| |
ภาวรูป ๒   |  

ภาวรูป มี ๒ อย่าง คือ อิตถีภาวรูป และ ปุริสภาวรูป

๑. อิตถีภาวรูป เป็น ทุพพลกรรม คือ กรรมที่มีกำลังอ่อน ประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะอย่างอ่อน มีความหวั่นไหว [อ่อนไหว] ตัดสินใจไม่เด็ดขาด จึงทำให้กัมมชรูปชนิดที่เป็นอิตถีภาวรูปปรากฏเป็นเพศหญิง ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลกรรมและอกุศลกรรม

๒. ปุริสภาวรูป เป็น พลวกรรม คือ กรรมที่มีกำลังเข้มแข็ง ประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะที่หนักแน่น มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด จึงทำให้ปุริสภาวรูปปรากฏเป็นเพศชาย ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลกรรมและอกุศลกรรม

ภาวรูป เป็นกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในปฏิสนธิกาล กล่าวคือ ในขณะที่สัตว์นั้นปรากฏเกิดขึ้นในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิ และเกิดขึ้นในขณะแรกแห่งปฏิสนธิ ที่เรียกว่า อุปปาทักขณะแห่งปฏิสนธิ เป็นต้นไป และเกิดขึ้นทุกอนุขณะของจิต กล่าวคือ จิต ๑ ดวง ย่อมมี ๓ อนุขณะ ได้แก่ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับ เมื่อครบ ๑๗ ขณะจิต [ขณะใหญ่] หรือ ๕๑ อนุขณะจิต [ขณะเล็ก] แล้วจะทะยอยดับไป ๆ และเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าสัตว์นั้นจะจุติคือตายจากภพภูมินั้น ภาวรูปนี้จะเกิดครั้งสุดท้าย เมื่อนับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป ๑๗ ขณะจิต หรือ ๕๑ อนุขณะจิต และจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ที่เกิดขึ้นมาก่อน ๆ ก็จะทะยอยดับไป ๆ เมื่อถึงภังคขณะของจุติจิต [จิตที่ตาย] ภาวรูปที่เกิดครั้งสุดท้ายนั้นก็จะมีอายุครบ ๑๗ ขณะใหญ่ หรือ ๕๑ ขณะเล็กของจิตพอดี และย่อมดับไปพร้อมกับภังคขณะของจุติจิตนั้นนั่นเอง เป็นอันสิ้นสุดสภาพของสัตว์นั้น ในภพภูมิหนึ่ง

ส่วนทรวดทรงสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย กิริยาอาการ ของสัตว์ทั้งหลาย เริ่มปรากฏขึ้นในปวัตติกาล กล่าวคือ ภายหลังจากปฏิสนธิจิตดับลงแล้ว จิตดวงอื่น ๆ ที่เรียกว่า ปวัตติจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นในปวัตติกาล ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือในขณะที่ชีวิตของสัตว์นั้นยังดำเนินไปอยู่

อุปมาเหมือนพืช [เชื้อหรือยางเหนียวที่จะทำให้งอกเป็นต้นไม้ขึ้นมา] เมื่อพืชมีอยู่ ต้นไม้ที่อาศัยพืชนั้นเป็นปัจจัยให้เจริญเติบโตขึ้นเป็นกิ่ง ก้าน ดอก ผล ก็ย่อมปรากฏมีขึ้นตามมาด้วย ข้อนี้ฉันใด ภาวรูปทั้ง ๒ ก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนพืชแห่งต้นไม้ ส่วนทรวดทรงสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย กิริยาอาการ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนกิ่งก้านสาขาและดอกผลเป็นต้นของต้นไม้ โดยเฉพาะสัตว์ที่เป็นคัพภเสยยกกำเนิด คือ เกิดในครรภ์มารดา ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในมดลูก คลอดออกมาเป็นตัว เรียกว่า ชลาพุชะ ก็ดี หรือสัตว์ที่เกิดในไข่ คลอดออกมาเป็นไข่แล้วฟักเป็นตัวที่หลัง เรียกว่า อัณฑชะ ก็ดี ย่อมจะมีวิวัฒนาการ กล่าวคือ ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น และมีอวัยวะปรากฏตามขั้นตอนของแต่ละประเภท หมายความว่า ในขณะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีกัมมชรูปเกิดพร้อมด้วย ๓ กลาปก่อน ได้แก่ ภาวทสกกลาป [เพศ] กายทสกกลาป [กายปสาท] และวัตถุทสกกลาป [หัวใจ] ส่วนกัมมชรูปนอกจากนี้ ย่อมค่อย ๆ ปรากฏเกิดขึ้นมาภายหลัง โดยไม่ได้มีกฎเกณฑ์แน่นอนว่า กลาปไหนเกิดก่อน และกลาปไหนเกิดต่อ ๆ มาตามลำดับ แต่ประการใด ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของกลาปนั้น ๆ

อนึ่ง สัตว์ที่เป็นสังเสทชกำเนิด คือ เกิดในเถ้าไคล ที่ชื้นแฉะ ยางเหนียว หรือเม็ดเลือด เป็นต้น ได้แก่ หนอน แมลงบางชนิด เป็นต้น บางพวกอาศัยมารดาเกิด บางพวกก็ไม่ต้องอาศัยมารดาเกิด ในขณะแรกเกิดนั้น ย่อมมีอวัยวะครบบริบูรณ์ แต่เกิดเป็นตัวเล็ก ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น จนเต็มขนาดของสัตว์นั้น ๆ ในขณะปฏิสนธิจิตปรากฏเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีกัมมชรูปเกิดพร้อมด้วย ๗ กลาป ได้แก่ ภาวทสกกลาป [เพศ] วัตถุทสกกลาป [หัวใจ] จักขุทสกกลาป [ประสาทตา] โสตทสกกลาป [ประสาทหู] ฆานทสกกลาป [ประสาทจมูก] ชิวหาทสกกลาป [ประสาทลิ้น] และกายทสกกลาป [กายปสาท] ส่วนอีก ๑ กลาป คือ ชีวิตนวกกลาปนั้น เกิดภายหลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว แต่ไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์แน่นอนว่าเกิดในขณะจิตดวงใด

ส่วนสัตว์ที่เป็นโอปปาติกกำเนิด คือ เกิดเติบโตขึ้นทันทีนั้น ย่อมเป็นเหมือนตกลงมาจากอากาศหรือผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน เรียกว่า สัตว์เกิดผุดขึ้น ในขณะแรกเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีอวัยวะครบบริบูรณ์และมีร่างกายเติบโตเท่าตัวจริงเลยทันที ไม่ได้มีวิวัฒนาการเหมือนสัตว์จำพวกคัพภเสยยกะและสังเสทชะดังกล่าวแล้ว

ภาวรูปที่แสดงความเป็นหญิงหรือชายทั้ง ๒ นี้ เกิดจากกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน [หรือบางคนอาจเกิดจากกรรมหนักบางอย่างในชาติปัจจุบันนั้น] กล่าวคือ

ถ้าชาติก่อนได้ประกอบกรรมที่มีกำลังอย่างอ่อน ที่เป็นประเภท ทุพพลกรรม คือ กรรมที่ประกอบด้วยสัทธาปสาทะอย่างอ่อน เต็มไปด้วยความหวั่นไหว ทุพพลกรรมนั้นย่อมจะกระทำกัมมชรูปชนิดที่เป็นอิตถีภาวรูปให้ปรากฏ ทั้งฝ่ายกุศลกรรมและ อกุศลกรรม

ถ้าทำกรรมด้วยอำนาจพลวกรรม คือ กรรมอันมีกำลังเข้มแข็งประกอบด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด ปราศจากความหวั่นไหว พลวกรรมนั้นย่อมกระทำปุริสภาวรูปให้ปรากฏเป็นเพศชาย ทั้งฝ่ายกุศลกรรมและอกุศลกรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลปรารถนาที่จะเกิดเป็นหญิงหรือเป็นชายในชาติต่อไป ย่อมสามารถปรับปรุงกุศลกรรมของตนให้เข้มแข็งหรือให้ย่อหย่อนได้ตามที่ใจปรารถนา กรรมของบุคคลนั้นย่อมจะกระทำภาวรูปให้เป็นไปตามความประสงค์ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |