| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของวัณณรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๐๑ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของวัณณรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปารมณ์ ได้แก่ รูปร่างสัณฐานหรือสีต่าง ๆ ที่แสดงให้ปรากฏแก่จิตและเจตสิกทางตา ย่อมแสดงถึงความรู้สึกทางใจให้ปรากฏรู้ถึงวัตถุสิ่งของนั้น ๆ ว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างไร ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

รูปยติ หทยงฺคตภวํ ปกาเสตีติ รูปํ” แปลความว่า รูปใดย่อมแสดงถึงความรู้สึกของจิตใจให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า รูปารมณ์

อีกนัยหนึ่ง “รูปยติ ทพฺพํ ปกาเสตีติ รูปํ” แปลความว่า รูปใดย่อมแสดงวัตถุของรูปร่างสัณฐานให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า รูปารมณ์

วจนัตถะแรก มีอธิบายว่า คนที่กำลังดีใจอยู่ก็ตาม เสียใจอยู่ก็ตาม กลุ้มใจ กลัว หรืออับอายอยู่ก็ตาม เมื่อผู้อื่นเห็นหน้าตาท่าทาง อันเป็นอาการแสดงออกของผู้นั้นแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า ผู้นั้นกำลังดีใจ เสียใจ กลุ้มใจ กลัวหรืออับอายอยู่ การที่ผู้อื่นสามารถรู้ได้เช่นนี้ ก็เพราะรูปารมณ์คือสีผิวหน้าตาของบุคคลนั้นนั่นเองที่ปรากฏออกมา รวมทั้งกิริยาท่าทางอันเป็นสีของผิวพรรณที่ยักย้ายไปมา จึงทำให้รู้ถึงความรู้สึกภายในของบุคคลนั้น ๆ ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรอยู่

วจนัตถะที่ ๒ มีอธิบายว่า บรรดาวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ก็ดี รูปร่างสัณฐานของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตก็ดี ที่ปรากฏออกมาได้นั้น ก็เพราะอาศัยรูปารมณ์เป็นผู้กระทำให้ปรากฏ และรูปารมณ์ที่เป็นผู้กระทำสิ่งต่าง ๆ ให้ผู้อื่นรู้ได้นั้น ก็ได้แก่ สีต่าง ๆ นั่นเอง

บทสรุปของผู้เขียน :

อาการที่บุคคลกำลังดีใจ เสียใจ กลุ้มใจ กลัว หรือเขินอาย เป็นต้นอยู่นั้น เมื่อผู้อื่นมองเห็นหน้าตาท่าทางของบุคคลนั้นแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า ผู้นั้นกำลังดีใจ เสียใจ กลุ้มใจ กลัว เขินอาย เป็นต้นอยู่ การที่บุคคลอื่นสามารถรู้ได้เช่นนี้ ก็เพราะรูปารมณ์คือสีสันวรรณะหรือสีผิวของบุคคลนั้นนั่นเองเป็นตัวแสดงความรู้สึกของผู้นั้นออกมาให้ปรากฏ หรืออีกนัยหนึ่ง วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ก็ดี รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตก็ดี ที่ปรากฏให้รู้ได้นั้น ก็เพราะอาศัยรูปารมณ์นั่นเองเป็นผู้กระทำให้ปรากฏ รูปารมณ์ที่เป็นผู้กระทำให้สิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตปรากฏให้ผู้อื่นรู้ได้นั้น ก็ได้แก่ สีต่าง ๆ นั่นเอง ถ้าบุคคลหรือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีสีสันวรรณะแล้ว รูปร่างสัณฐานของบุคคลหรือสรรพสิ่งเหล่านั้นย่อมไม่ปรากฏ เมื่อรูปร่างสัณฐานไม่ปรากฏแล้ว บุคคลอื่นย่อมไม่สามารถมองเห็นได้เลย เมื่อบุคคลอื่นมองเห็นไม่ได้แล้ว สัตว์ทั้งหลายและสรรพสิ่งทั้งปวงแม้มีอยู่ ก็เหมือนไม่มี เพราะไม่สามารถมองเห็นกันได้ นอกจากบุคคลผู้มีทิพพจักขุอภิญญา คือ มีตาทิพย์ และผู้มีปรจิตตวิชชานน อภิญญา คือ ผู้รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้เท่านั้น จึงจะสามารถรู้ได้ว่าบุคคลหรือสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหมายในทางดีและทางไม่ดี กล่าวคือ ความชอบและความชัง เป็นต้น ต่อบุคคลและสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่เกิดขึ้น แต่ที่มีความหมายต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในทางความชอบและความชัง เป็นต้นนั้น ก็เพราะสามารถมองเห็นกันได้และมองเห็นสรรพสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในวิสัยจะเห็นได้นั่นเอง สายใยแห่งกุศลคือความดีงาม และลูกโซ่แห่งกิเลสที่เป็นเหตุแห่งอกุศลคือความไม่ดีไม่งาม จึงปรากฏเกิดขึ้นในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย โดยอาศัยวัณณรูปคือรูปารมณ์ที่ปรากฏแก่จักขุทวารวิถีจิตทางจักขุทวารนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |