ไปยังหน้า : |
อวิชชาสูตร [๑]
[เงื่อนแห่งอวิชชา]
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนอวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำอย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ได้แก่ นิวรณ์ ๕ แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ได้แก่ ทุจริต ๓ แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การไม่สำรวมอินทรีย์ แม้การไม่สำรวมอินทรีย์เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า ได้แก่ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย แม้การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่า มีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่า ได้แก่ ความไม่มีศรัทธา แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า ได้แก่ การไม่ฟังสัทธรรม แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า ได้แก่ การไม่คบสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัตบุรุษให้บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกอย่างหนัก น้ำย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและลำห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและลำห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองน้ำให้เต็ม หนองน้ำที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ฯลฯ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า ได้แก่ สุจริต ๓ แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า ได้แก่ สติสัมปชัญญะ แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า ได้แก่ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ได้แก่ ศรัทธา แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา ควรกล่าวว่า ได้แก่ การฟังสัทธรรม แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า ได้แก่ การคบสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์ การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักอยู่ น้ำย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและลำห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธารและลำห้วยที่เต็มย่อมยังหนองน้ำให้เต็ม หนองน้ำที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายการคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ฯลฯ โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล
อวิชชาสูตร [๒]
[ว่าด้วยการละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิด]
ครั้งหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลรู้อย่างไร เห็นอย่างไร จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุ บุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งจักษุ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิด บุคคลรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยงจึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น บุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ ซึ่งหู จมู กลิ้น กาย ใจ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิด ดูกรภิกษุ บุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิด
ทุติยอวิชชาสูตร
[ว่าด้วยการละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น]
ครั้งหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า
[พระพุทธเจ้า] ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่
[ภิกษุ] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น เป็นไฉน พระพุทธเจ้าข้า
[พระพุทธเจ้า] ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คือ อวิชชาแล ซึ่งภิกษุละได้แล้วย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น
[ภิกษุ] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าข้า
[พระพุทธเจ้า] ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เธอย่อมรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวง โดยประการอื่น คือ เห็นจักษุโดยประการอื่น ฯลฯ เห็นรูป โดยประการอื่น ฯลฯ เห็นจักษุวิญญาณ โดยประการอื่น ฯลฯ เห็นจักษุสัมผัส โดยประการอื่น เห็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ฯลฯ เห็นใจ โดยประการอื่น เห็นธรรมารมณ์โดยประการอื่น เห็นมโนวิญญาณ โดยประการอื่น เห็นมโนสัมผัสโดยประการอื่น เห็นสุขเวทนาโดยประการอื่น เห็นทุกขเวทนาโดยประการอื่น หรือเห็นอทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยโดยประการอื่น ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น ฯ
อวิชชาสูตร [๓]
[ว่าด้วยอวิชชาและวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศลและกุศล]
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระดำรัสพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ย่อมเกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมบังเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ผู้ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด การเจรจาผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การทำการงานผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด ความพยายามผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ความระลึกผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ความตั้งใจผิดย่อมบังเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ย่อมบังเกิดร่วมกับความละอายบาปความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ผู้ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ การเจรจาชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การทำการงานชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ ความพยายามชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ความระลึกชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ความตั้งใจชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ