| |
อำนาจของจิต ๖ ประการ   |  

จิตนี้ย่อมมีอำนาจในตนเองอยู่โดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สิ่งต่าง ๆ นั้น มีความวิจิตรพิสดารไปตามอำนาจของจิตด้วย เรียกว่า ความวิจิตรของจิต มี ๖ ประการ คือ

๑. มีอำนาจในการกระทำ หมายความว่า จิตนี้สามารถทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยธรรมชาตินั้นวิจิตรพิสดารงดงาม แปลกประหลาดน่าพิศวงขึ้นไปอีก เช่น คิดผลิตสิ่งต่างๆ มีรถ เรือ เครื่องบิน จรวด เป็นต้น เรียกว่า“วิจิตรในการกระทำ”

๒. มีอำนาจด้วยตนเอง หมายความว่า จิตนี้สามารถแปรสภาพตัวเองออกไปได้มากมาย เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา มีทั้งจิตที่โลภ โกรธ หลง หรือ มีความฉลาด มีศรัทธา มีเมตตา เป็นต้น เรียกว่า “วิจิตรด้วยตนเอง”

๓. มีอำนาจในการสั่งสมกรรมและกิเลส หมายความว่า จิตนั่นเองเป็นต้น เหตุในการก่อกรรม คือ บุญและบาป เมื่อกระทำกรรมลงไปแล้ว ย่อมเก็บความดี ความชั่วนั้นไว้ รอโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดขึ้นต่อไป และเมื่อได้ทำสิ่งใดบ่อย ๆ ย่อมจะเกิดความยึดติดผูกพัน ทำให้เกิดความถนัดเจนจัดและชำนาญในสิ่งนั้น เรียกว่า “วิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส”

๔. มีอำนาจในการรักษาวิบาก หมายความว่า สภาพของจิตนี้เมื่อเป็นเหตุให้ทำกรรมลงไปแล้วย่อมจะเก็บรักษาผลของบุญ หรือผลของบาป ที่ได้ทำไว้แล้วนั้น ไม่ให้สูญหายไปไหนและไม่ให้เสื่อมสภาพไป แม้จะเป็นเวลานานแค่ไหนก็ตามเมื่อได้เหตุปัจจัยที่พอเหมาะแล้ว ย่อมสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้ เรียกว่า “วิจิตรในการรักษาไว้ซึ่งวิบากของกรรมและกิเลสที่ได้สั่งสมไว้”

๕. มีอำนาจในการสั่งสมสันดานของตนเอง หมายความว่า ถ้าได้คิด ได้ทำ ได้พูด อย่างใด ๆ ไว้ก็ตาม ถ้าได้กระทำบ่อยๆ ทำอยู่เสมอ ๆ จิตนี้ย่อมจะเก็บฝังติดอยู่เป็นนิสัยสันดาน ทำให้ชอบทำ ชอบคิด ชอบแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมาเสมอๆ ถ้าไม่ตั้งใจฝืนแก้ไขให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ก็จะยังคงพฤติกรรมอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป หรือทวีความรุนแรงมากขึ้น เรียกว่า “วิจิตรในการสั่งสมสันดานของตนเอง”

๖. มีอำนาจต่ออารมณ์ต่าง ๆ หมายความว่า จิตนี้สามารถที่จะรับอารมณ์ได้อย่างหลากหลายไม่จำกัด และที่สำคัญที่สุด คือ คนพาลจะรับอารมณ์ที่ไม่ดีได้ง่าย ส่วนบัณฑิตจะรับอารมณ์ที่ดีได้ง่าย เรียกว่า “วิจิตรด้วยอารมณ์ต่าง ๆ”

ฉะนั้น สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตที่วิจิตรพิสดารนั้น ก็เพราะอำนาจแห่งจิต คือ มีจิตเป็นผู้กระทำให้วิจิตร สิ่งที่มีชีวิต ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากกรรม และมีจิตเป็นเครื่องประคับประคอง มีอุตุ [คืออากาศหรืออุณหภูมิ] และอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เป็นไปได้ ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้น ได้แก่ วัตถุสิ่งของทั้งหลายบรรดาที่ปรากฏมีอยู่ในโลกทั้งปวง เช่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เพชร นิล จินดา เป็นต้น ซึ่งเกิดจากอุตุ และอาหาร [คือสสารและพลังงาน] ที่จับกลุ่มกันเป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เมื่อปรากฏเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว ก็ทำให้เกิดความวิจิตรด้วยอำนาจแห่งจิตไปด้วย

สรุปได้ว่า สัตว์ทั้งหลายวิจิตร เพราะกำเนิดวิจิตร กำเนิดวิจิตร เพราะกรรมวิจิตร กรรมวิจิตร เพราะตัณหาวิจิตร ตัณหาวิจิตร เพราะสัญญาวิจิตร สัญญาวิจิตร ก็เพราะจิตวิจิตร


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |