| |
ลักขณาทิจตุกะของมุทิตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของมุทิตาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ ได้แก่ อารมณ์ที่เป็นสุขิตสัตว์ คือ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังประสบความสุขหรือจะได้ประสบความสุขในกาลข้างหน้า โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปะโมทะนะลักขะณา มีความยินดีในความสุขของผู้อื่น เป็นลักษณะ หมายความว่า มุทิตาเจตสิกนี้ย่อมรับเอาสุขิตสัตว์เป็นอารมณ์ คือ เมื่อเห็นสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความสุขหรือจะได้รับความสุขในกาลข้างหน้า เพราะมีเหตุแห่งความสุขนั้นปรากฏขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ บุคคลผู้มีใจมุทิตา เมื่อได้พบเห็นสัตว์หรือบุคคลผู้มีความสุขหรือจะมีความสุขในกาลข้างหน้าเช่นนั้นแล้ว ย่อมแสดงความชื่นชมยินดีกับสัตว์หรือบุคคลนั้นด้วยใจจริง

๒. อะนุสสูยะนะระสา มีความไม่ริษยาในความสุขของบุคคลอื่น เป็นกิจ หมายควมว่า สภาวะของมุทิตาเจตสิกนี้ย่อมกำจัดความอิจฉาริษยาในสมบัติและความสุขของบุคคลอื่นให้หมดไป เพราะฉะนั้น เมื่อมุทิตาเจตสิกเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นย่อมชื่นชมยินดีในทรัพย์สมบัติและความสุขของบุคคลอื่นด้วยใจจริงได้

๓. อะระติวิฆาตะปัจจุปัฏฐานา มีการทำลายความไม่ยินดี ในความสุขของผู้อื่น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า มุทิตาเจตสิกมีสภาพตรงข้ามกับอรติ ซึ่งเป็นอกุศลธรรม คือ ความไม่ยินดี เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้บุคคลไม่ยินดีในทรัพย์สมบัติและคุณความดีของบุคคลอื่นด้วยอำนาจความอิจฉาริษยา เพราะฉะนั้น เมื่อมุทิตาเจตสิกเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีความชื่นชมยินดีกับบุคคลที่กำลังมีความสุขหรือจะมีความสุขในกาลข้างหน้า ซึ่งได้กำหนดพิจารณาเห็นเหตุแห่งความสุขนั้นแล้วด้วยใจจริง และสามารถทำลายความไม่ยินดีนั้นให้หมดไปได้

๔. ปะระสัมปัตติปะทัฏฐานา วา ลักขีทัสสะนะปะทัฏฐานา มีสมบัติของบุคคลบอื่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือได้เห็นความสวยงาม ความมีเกียรติของบุคคลอื่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า มุทิตาเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่มีสภาพชื่นชมยินดี เพราะฉะนั้น จึงต้องมีทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่นปรากฏเฉพาะหน้าก่อนแล้ว มุทิตาเจตสิกนี้จึงสามารถแสดงความชื่นชมยินดีต่อทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีนั้นได้ ถ้ามีอารมณ์เป็นอย่างอื่นปรากฏ มุทิตาเจตสิกนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |