| |
ตามนัยแห่งกาล   |  

การแสดงความเป็นไปของรูปตามนัยแห่งกาลนี้ หมายถึง การแสดงความเป็นไปแห่งรูปโดยลำดับแห่งกาล กล่าวคือ รูปใดเกิดได้และเกิดไม่ได้ในกาลใดบ้าง กาลเวลาที่แสดงความเป็นไปของรูปนี้มีอยู่ ๓ กาลด้วยกัน คือ

๑. ปฏิสนธิกาล หมายถึง เวลาที่รูปเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภพใหม่

๒. ปวัตติกาล หมายถึง เวลาที่รูปตั้งอยู่ในภพชาตินั้น ๆ

๓. จุติกาล หมายถึง เวลาที่รูปเคลื่อนพ้นไปจากภพชาตินั้น ๆ กล่าวคือ เวลาที่สัตว์นั้นตายจากภพชาตินั้น ๆ นั่นเอง

ในปริจเฉทที่ ๖ นี้ แสดงถึงความเป็นไปของรูปธรรมในกาลทั้ง ๓ ว่ารูปใดเกิดได้และเกิดไม่ได้ในกาลใดบ้าง ดังคาถาสังคหะ [คาถาที่ ๑๒] ที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์แสดงไว้ว่า

สทฺโท วิกาโร ชรตา    มรณญฺโจปปตฺติยํ
น ลพฺภนฺติ ปวตฺเต ตุ    น กิญฺจิปิ น ลพฺภติ ฯ

แปลความว่า สัททรูป ๑ วิการรูป ๕ [วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓] ชรตารูป ๑ อนิจจตารูป ๑ รวม ๘ รูปนี้ เกิดไม่ได้ในปฏิสนธิกาล ส่วนในปวัตติกาลนั้น รูปใด ๆ ที่จะเกิดไม่ได้นั้นไม่มีเลย ย่อมเกิดได้ทั้งสิ้น

คาถานี้แสดงถึงรูปธรรมทั้งหมด ๒๘ รูป ที่เกิดได้และเกิดไม่ได้ในกาลทั้ง ๓ คือ ปฏิสนธิกาล ปวัตติกาล และจุติกาล ซึ่งจะได้ขยายความตามลำดับ ดังต่อไปนี้

๑. ปฏิสนธิกาล ตามคาถาข้างต้นที่แสดงว่า สัททรูป ๑ วิการรูป ๕ ชรตารูป ๑ และอนิจจตารูป ๑ รวม ๘ รูปนี้ เกิดไม่ได้ในปฏิสนธิกาลนั้น หมายความว่า ในปฏิสนธิขณะของสัตว์ทั้งหลาย เสียงยังไม่ปรากฏมี การพูดจา การเคลื่อนไหวกาย และรูปเบา รูปอ่อน รูปอันควรแก่การงาน ตลอดทั้งรูปที่กำลังแก่และรูปที่กำลังดับ ก็ยังปรากฏมีไม่ได้ อุปมาเหมือนหม้อข้าวที่ยกขึ้นตั้งบนเตาไฟ เมื่อเริ่มตั้งใหม่ ๆ จะให้ข้าวนั้นเดือดและสุกขึ้นมาทันที ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันใด ในปฏิสนธิขณะของสัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน จะให้รูปสำเร็จพร้อมกันทุกอย่างในขณะแรกเกิดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้น

อนึ่ง เมื่อท่านแสดงว่า เฉพาะรูป ๘ รูป มีสัททรูปเป็นต้นเท่านั้นที่เกิดไม่ได้ในปฏิสนธิกาล จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า รูปที่เหลืออีก ๒๐ รูปย่อมเกิดได้ในปฏิสนธิกาล

รูป ๒๐ รูปที่เกิดได้ในปฏิสนธิกาลนั้น ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ อุปจยรูป ๑ และสันตติรูป ๑ รวม ๒๐ รูปนี้ ได้แก่ กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานจำพวกเดียวเท่านั้น ส่วนจิตตชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูปทั้ง ๓ จำพวกนี้ ย่อมเกิดไม่ได้ในปฏิสนธิกาล การเกิดขึ้นของรูป ๒๐ นี้ เป็นการแสดงถึงจำนวนรูปที่จะเกิดขึ้นได้ในปฏิสนธิกาลโดยรวม แต่เมื่อว่าโดยอุปปาทขณะของปฏิสนธิจิตแล้ว จำนวนรูปย่อมเกิดได้ตามสมควรแก่ภูมิและกำเนิดของสัตว์นั้น ๆ

ตามนัยอภิธัมมัตถสังคหะ ท่าน[พระอนุรุทธาจารย์]แสดงรูปที่เกิดไม่ได้ในปฏิสนธิกาล ๘ รูป แต่ตามนัยอรรถกถาและฎีกานั้น ท่านแสดงรูปที่เกิดไม่ได้ในปฏิสนธิกาล ๙ รูป โดยเพิ่มสันตติรูปอีก ๑ รูป เพราะในขณะแห่งการเกิดขึ้นใหม่นั้น ยังไม่มีสันตติรูปปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงรวมเป็นรูปที่เกิดได้ในปฏิสนธิกาล ๑๙ รูป ได้แก่ กัมมชรูป ๑๙ [เว้นสันตติรูป ๑]

๒. ปวัตติกาล ในปวัตติกาลนั้น รูปทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้ตามสมควรแก่ภูมิและกำเนิดของสัตว์นั้น ๆ และรูปทั้ง ๒๘ รูปที่เกิดได้ในปวัตติกาลนั้น ย่อมเกิดได้ทั้งกัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูป ทุกสมุฏฐานย่อมเกิดได้ทั้งหมด

๓. จุติกาล ในจุติกาล คือ ในเวลาที่สัตว์ตาย รูปที่เกิดไม่ได้นั้น ได้แก่ กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทั้งหมด และจิตตชรูป เฉพาะจุติจิตของพระอรหันต์

ส่วนรูปที่ยังเกิดได้ในจุติกาลนั้น ได้แก่

๑. จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ที่เกิดในอุปปาทขณะแห่งจุติจิตของสัตว์ในปัญจโวการภูมิ [เว้นจุติจิตของพระอรหันต์] ยังคงตั้งอยู่จนครบอายุ จึงดับ

๒. อาหารชรูป คือ รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน เนื่องจากอาหารชรูปเกิดขึ้นได้ทุก ๆ อนุขณะของจิต เพราะฉะนั้น ในภังคขณะของจุติจิต อาหารชรูปก็ยังเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และตั้งอยู่ได้อีกประมาณเท่าอายุของจิต ๑๗ ดวง [๕๐ อนุขณะของจิต]

๓. อุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่ยังเกิดได้เรื่อยไป กล่าวคือ แม้หลังจากติชรูป คือ กัมมชรูป จิตตชรูป และอาหารชรูป ดับลงแล้วก็ตาม การเกิดขึ้นติดต่อกันของอุตุชรูป ก็ยังคงดำเนินเรื่อยไป แม้จะกลายเป็นซากศพหรือเหลือแต่กระดูกและเถ้าถ่านแล้วก็ตาม

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๖๖๖ ท่านได้แสดงอธิบายถึงเหตุที่บางรูปเกิดได้และบางรูปเกิดไม่ได้ในรูปพรหมไว้ ดังต่อไปนี้

ในความไม่มีฆานะ ชิวหา กายะ ในรูปโลก ท่านอาจารย์ได้กล่าวเหตุไว้แล้วเหมือนกัน แต่ภาวรูปทั้ง ๒ ย่อมไม่เป็นไปในรูปโลกนั้น เพราะภาวรูปทั้ง ๒ นั้น เป็นอุปนิสัยของกามราคะที่แรงกล้า และเพราะพวกพรหมไม่มีภาวรูปทั้ง ๒ นั้น และกลาปของอาหารชรูปก็เกิดไม่ได้ [ไม่เกิดในรูปโลกนั้น] เพราะอาหารแม้ที่ซึมซาบอยู่ในร่างกาย [ในรูปพรหม] ย่อมไม่ยังรูปให้เกิดขึ้นได้ [แต่อาหารย่อมซึมซาบเข้าไปสู่ร่างกายได้] ด้วยอาหารที่กลืนกินเข้าไป เพราะว่าฤดูและอาหารที่ซึมซาบไปทั่วสรีระ แม้มีอยู่ ได้อุตุและอาหารภายนอกเป็นที่อาศัยแล้วย่อมยังอุตุชรูปและอาหารชรูปให้ตั้งขึ้น

บทว่า ชีวิตนวกํ ได้แก่ ชีวิตนวกะ [กลาป] ซึ่งมีกายทสกะ [กลาป] เป็นที่ตั้งอยู่ เพราะไม่มีกายปสาท

บทว่า อติริจฺฉติ ความว่า เป็นรูปที่เหลือลงจากรูปที่จะมีได้ในปฏิสนธิกาลและ ปวัตติกาลแห่งพรหมที่เหลือ ก็รูปที่มีสมุฏฐาน ๓ และที่มีสมุฏฐาน ๒ แห่งพวกพรหมแม้ทั้งหมด ย่อมดับพร้อมกันทีเดียว เพราะพวกพรหมไม่มีการทิ้งสรีระไว้ในเวลาตาย ในรูปพรหมทั้งหลาย [รูปาวจรภูมิ] รูป ๒๓ ย่อมดับไปพร้อมกัน เพราะไม่มีรูปทั้ง ๕ ด้วยสามารถแห่งฆานะ ชิวหา กายะ และภาวรูป ๒ แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แม้รูปทั้ง ๓ มีลหุตาเป็นต้น ก็ไม่มีในรูปพรหมเหล่านั้น เพราะไม่มีความกำเริบแห่งธาตุมีอันกระทำความเฉื่อยช้าเป็นต้น คำตามที่กล่าวนั้นเป็นเหตุที่ไม่สมควร เพราะว่า ความเป็นไปแห่งธรรมที่เป็นข้าศึกต่อลหุตารูปเป็นต้นเหล่านั้น ซึ่งมีการเพ่งเอาธาตุที่จะพึงให้สงบ ย่อมไม่มี เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้น ความไม่มีลหุตาเป็นต้น จะไปพ้องกันในพวกสเหตุกกิริยาจิต

คำว่า สทฺโท วิกาโร เป็นอาทิ ท่านอาจารย์กล่าวไว้ด้วยอำนาจที่ทั่วไปแม้แก่สัตว์ทุกจำพวก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |