| |
ความหมายของโสตปสาทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๔๙ ได้แสดงความหมายของโสตปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

โสตะ คือ รูปที่ได้ยิน

อีกนัยหนึ่ง โสตะ คือ รูปที่ทำให้ผู้ฟังได้ยิน

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว โสตะย่อมมีความหมาย ๒ ประการคือ

๑. รูปที่ได้ยิน๑. รูปที่ได้ยิน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สุณาตีติ โสตํ” แปลความว่า รูปใดย่อมฟังหรือย่อมได้ยิน เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า โสตะ

๒. รูปที่ทำให้ผู้ฟังได้ยิน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สุณนฺติ เอเตนาติ โสตํ” หรือ “สุยฺยนฺติ เอเตนาติ โสตํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมได้ยินได้ เพราะอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปอันเป็นเหตุแห่งการได้ยินนั้น จึงชื่อว่า โสตะ

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ตามความหมายนัยที่ ๑ เป็นการแสดงโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะรูปธรรมทั้งหลายเป็นอนารัมมณธรรมคือธรรมที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ เพียงแต่ว่า โสตวิญญาณจิตอาศัยโสตปสาทรูปซึ่งเป็นวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิด และโสตทวารวิถีจิตอาศัยโสตปสาทรูปเป็นทวารคือเป็นช่องทางรับรู้สัททารมณ์เท่านั้น เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูปจึงไม่สามารถได้ยินหรือฟังเสียงได้

ตามความหมายนัยที่ ๒ เป็นการแสดงโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง เพราะโสตปสาทรูปเป็นเพียงสถานที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณจิตและเป็นทวารคือเป็นช่องทางรับรู้สัททารมณ์ของโสตทวารวิถี เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูปจึงเป็นเพียงสถานที่อาศัยรับรู้เสียงของโสตวิญญาณจิตและโสตทวาริกจิต [คือจิตที่อาศัยโสตทวารเกิด] เท่านั้น ถ้าไม่มีโสตปสาทรูปเป็นที่อาศัยเกิดและเป็นช่องทางแล้ว โสตวิญญาณจิตและโสตทวาริกจิตทั้งหลายย่อมไม่สามารถรับรู้สัททารมณ์ได้เลย

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๕๐ ท่านได้แสดงความหมายของโสตปสาทรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

โสตประสาทก็เหมือนกัน ย่อมซึมซาบอยู่ตลอดประเทศที่มีอาการดังวงแหวน มีขนแดงเล็กงอกขึ้นแล้ว ภายในช่องโสตะ

มติของคณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย :

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๑๕๑ ได้แสดงความหมายของโสตปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

โสตปสาทเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับเสียงต่าง ๆ ตั้งอยู่ภายในช่องหู มีสัณฐานเหมือนวงแหวน เป็นที่งอกแห่งขนแดงเส้นละเอียด โสตปสาทแผ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่างคือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณจิต อย่างหนึ่ง เป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งโสตทวารวิถีจิต อย่างหนึ่ง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๕๒ ได้แสดงความหมายของโสตปสาทรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

โสตปสาทรูป หมายถึง รูปประสาทหูที่มีความใสสามารถรับสัททารมณ์ได้ เป็นเหตุให้ได้ยินเสียง และเป็นที่ตั้งของโสตวิญญาณจิต

มูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๕๓ ได้แสดงความหมายของโสตปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

โสตปสาทรูป หมายถึง ประสาทหู ที่อยู่ในช่องหู มีสัณฐานเป็นวง ๆ คล้ายแหวน และมีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงปรากฏอยู่โดยรอบ เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับสัททารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณ และเป็นทวารอันเป็นช่องทางให้เกิดโสตทวารวิถีจิต

โสตะ คือ หูของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั้น มี ๒ อย่าง คือ

๑. สสัมภารโสตะ ได้แก่ หูทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสสัมภารธาตุ อันเป็นที่ตั้งที่อาศัยเกิดของโสตปสาท

๒. ปสาทโสตะ ได้แก่ โสตปสาท ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางช่องหูภายใน มีสัณฐานคล้ายวงแหวน มีขนละเอียดอ่อนล้อมอยู่โดยรอบ

เพราะฉะนั้น หูทั้งหมดที่มองเห็นเป็นรูปหูนั้น ไม่ชื่อว่า โสตปสาท ที่ชื่อว่า โสตปสาท นั้นก็คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความสามารถรับเสียงต่าง ๆ ได้ ตั้งอยู่ภายในช่องหู มีสัณฐานเหมือนวงแหวน มีขนสีแดงเส้นละเอียดอ่อนเกิดขึ้นโดยรอบ โสตปสาทแผ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ

[๑] เป็นที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

[๒] เป็นทวาร คือ ช่องทางการรับรู้อารมณ์ของโสตทวารวิถีจิต

บทสรุปของผู้เขียน :

โสตปสาทรูป หมายถึง ประสาทหู ซึ่งเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรมซึ่งมีสภาพเป็นความใสอันสามารถรับกระทบกับสัททารมณ์ได้ และเป็นรูปธรรมที่เป็นเหตุแห่งการได้ยินเสียง ทั้งเป็นที่ตั้งของโสตวิญญาณจิตด้วย โสตปสาทรูปนี้ย่อมซึมซาบอยู่ในก้อนเนื้อที่เกิดจากกรรม ซึ่งมีสัณฐานเหมือนวงแหวนและมีขนสีแดงเส้นละเอียดอ่อนปรากฏอยู่โดยรอบ ตั้งอยู่ภายในช่องหูส่วนลึก เป็นรูปธรรมที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นวัตถุ คือ เป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

๒. เป็นทวาร คือ เป็นประตูหรือช่องทางให้โสตทวารวิถีจิตหรือโสตทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ และกายวิญญาณจิต ๒] เกิดขึ้นรับรู้สัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ ที่ปรากฏทางทวารหู

ถ้าไม่มีโสตปสาทรูปเสียแล้ว ถึงแม้จะมีใบหูอยู่ก็ตาม ย่อมไม่สามารถได้ยินเสียงได้เลย หรือจะใช้รูปธรรมอย่างอื่นมารับรู้เสียงแทนโสตปสาทรูป ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |