| |
ถีนเจตสิก   |  

ถีนเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ หมายความว่า สภาวธรรมที่เป็นอาการของจิตซึ่งคลายลงจากอำนาจความขะมักเขม้นต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล หรือ ท้อถอยจากการงานอันเป็นคุณงามความดี เมื่อจิตถูกถีนเจตสิกครอบงำแล้ว ย่อมมีสภาพอ่อนล้าลงจากสภาพจิตที่มีความมุ่งมั่นและขะมักเขม้นในอารมณ์หรือในกิจการงานอันเป็นความดีงาม เมื่อถีนเจตสิกเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้อาการมุ่งมั่นหรือขะมักเขม้นนั้นเริ่มผ่อนกำลังลงและเสื่อมคลายไปในที่สุด ทำให้การงานอันเป็นความดีงามนั้นหยุดชะงักลง สภาพจิตย่อมกลายเป็นอกุศลไป เป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง ตามแต่เหตุปัจจัยของจิตที่เกิดขึ้นมาสมทบในขณะนั้น

ถีนเจตสิกต้องเกิดร่วมกับมิทธเจตสิกเสมอ จะเกิดขึ้นโดยปราศจากมิทธเจตสิกไม่ได้ เพราะต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกันและแบ่งหน้าที่กันทำให้กิจการงานฝ่ายอกุศลนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ คือ ถีนเจตสิกเป็นผู้ปรับสภาพจิตให้ท้อถอยเหินห่างจากอารมณ์หรือการงานอันเป็นกุศล ส่วนมิทธเจตสิกเป็นผู้ปรับสภาพเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในจิตดวงเดียวกันให้มีสภาพท้อถอยจากอารมณ์หรือการงานอันเป็นความดีงามเสีย ซึ่งต่างก็ช่วยกันทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้นเบือนหน้าหนีจากสิ่งที่เป็นกุศลเสียแล้วบ่ายหน้าไปสู่สิ่งที่เป็นอกุศล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |