| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับเรื่องทาน   |  

ปฐมสัปปุริสทานสูตร

ในปฐมปุริสทานสูตร พระสุตตันตปิฎก ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทานมี ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

๑. ให้ของสะอาด ๒. ให้ของประณีต

๓. ให้ถูกกาล ๔. ให้ของที่สมควร

๕. รู้จักเลือกให้ ๖. ให้อย่างเนืองนิตย์

๗. เมื่อให้ย่อมมีจิตผ่องใส ๘. ครั้นให้แล้วย่อมดีใจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล

อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีตตามกาลอันสมควร ย่อมให้เป็นประจำ ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี [ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันดี] บริจาคของมากแล้วย่อมไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้งย่อมสรรเสริญทานที่สัตบุรุษนั้นให้แล้วอย่างนี้ บัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียนเป็นสุข พระพุทธเจ้า ทรงแสดงการให้ทานของสัตบุรุษ ๕ ประการ พร้อมทั้งทรงแสดงผลของการให้ด้วย ดังนี้

๑. ให้ทานด้วยศรัทธา ผลย่อมทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และมีรูปร่างสวยงามน่าดู

๒. ให้ทานโดยเคารพ ผลย่อมทำให้บุคคลนั้นมีความมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และมีคนเชื่อถือถ้อยคำ

๓. ให้ทานโดยกาลอันสมควร ผลคือความมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และ เป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์

๔. เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ผลคือ มีความมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปที่จะใช้สอยสิ่งที่ได้มานั้นสูงยิ่งขึ้น

๕. ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ผลคือ มีความมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีโภคทรัพย์ ไม่มีภัยอันตรายใด ๆ

อสัปปุริสทานสูตร

[ว่าด้วยการให้ทานของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ]

ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระพุทธเจ้าทรงแสดงการให้ทานของอสัตบุรุษและสัตบุรุษฝ่ายละ ๕ ประการ ดังนี้

การให้ทานของอสัตบุรุษ ได้แก่

๑. ให้โดยไม่เคารพ ๒. ให้โดยไม่อ่อนน้อม

๓. ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง ๔. ให้ของที่เป็นเดน

๕. ให้โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะพึงมาถึง [ไม่หวังสิ่งตอบแทน]

ส่วนการให้ทานของสัตบุรุษนั้น มีนัยตรงกันข้ามจากอสัปปุริสทานนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |