| |
กามคุณ ๕   |  

ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงกามคุณ คือ อารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาไว้ ๕ ประการรุ.๒๔๒ คือ

กามคุณ หมายถึง สิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ ทำให้ผู้เสพเกิดความติดใจหลงใหล และกำหนัดมัวเมา ถ้าหลงใหลติดใจมาก ย่อมทำให้ครุ่นคิดปล่อยจิตให้วนเวียนคำนึงถึงแต่สิ่งนั้น จนกลายเป็นทาสของสิ่งนั้นไปก็ได้ ซึ่งมี ๕ ประการดังต่อไปนี้

๑. รูป ได้แก่ รูปารมณ์ คือ สีต่าง ๆ ที่เป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกทางจักขุทวาร

๒. เสียง ได้แก่ สัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ ที่เป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกทางโสตทวาร

๓. กลิ่น ได้แก่ คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ที่เป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกทางฆานทวาร

๔. รส ได้แก่ รสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ที่เป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกทาง ชิวหาทวาร

๕. สัมผัส ได้แก่ โผฏฐัพพารมณ์ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ที่เป็นสัมผัสแข็ง อ่อน เย็น ร้อน หย่อน ตึง ที่เป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกทางกายทวาร

กามคุณทั้ง ๕ ประการนี้ ก็เป็นรูปธรรม ๗ อย่าง คือ วัณณรูป [สี] สัททรูป [เสียง] คันธรูป [กลิ่น] รสรูป [รส] ปถวี เตโช วาโย [ดิน ลม ไฟ] ซึ่งปรากฏทางทวาร ๕ คือ วัณณรูป [รูป] ปรากฏทางตา เรียกว่า รูปารมณ์ สัททรูป [เสียง] ปรากฏทางหู เรียกว่า สัททารมณ์ คันธรูป [กลิ่น] ปรากฏทางจมูก เรียกว่า คันธารมณ์ รสรูป [รส] ปรากฏทางลิ้น เรียกว่า รสารมณ์ และปถวี เตโช วาโย [สัมผัส] ที่ปรากฏทางกาย เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งรูปเหล่านี้เป็นแต่เพียงรูปธรรม ที่เกิดจากเหตุปัจจัย มีสภาพเป็นวิบากคือผลที่กรรมจัดแจงให้เกิดขึ้น เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุณหภูมิบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง และมีสภาพเป็นอเหตุกะ คือ ไม่มีเหตุประกอบร่วมด้วยช่วยกระตุ้นเตือนจัดแจง มีสภาพเป็นอนารัมมณะ คือ รู้อารมณ์ไม่ได้ หรือไม่มีความรู้สึกรับรู้ในสิ่งต่าง ๆ แต่อย่างใด แต่เพราะความวิจิตรของจิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย จึงทำให้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้เกิดความวิจิตรหลากหลายแตกต่างกันออกไปอย่างไม่มีที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |