| |
คุณลักษณะของเจตสิก   |  

๑. เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกับจิต

๒. เอกนิโรธะ ดับพร้อมกับจิต

๓. เอกาลัมพณะ มีอารมณ์อย่างเดียวกับจิต

๔. เอกวัตถุกะ มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกับจิต

อธิบายความหมาย

ลักษณะ ๔ ประการของเจตสิกนี้ เรียกว่า เจโตยุตตลักษณะ แปลว่า ลักษณะแห่งการประกอบร่วมกับจิตของเจตสิกธรรมทั้งหลาย คือ

๑. เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกับจิต หมายความว่า เจตสิกธรรมทั้งหลาย จะต้องเกิดพร้อมกับจิตเสมอ เมื่อจิตเกิดขึ้น เจตสิกย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน หรือเกิดพร้อมกัน จะกล่าวว่า จิตเกิดก่อน เจตสิกเกิดทีหลัง หรือ เจตสิกเกิดก่อน จิตเกิดทีหลัง นั้นไม่ได้ แต่ทั้งนี้ การที่เจตสิกจะเกิดได้ ก็ต้องมีอาการปรากฏขึ้นของจิต หรือมีเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตดวงนั้นปรากฏขึ้นเป็นประธานก่อน แล้วเจตสิกจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าจิตไม่แสดงอาการเกิดขึ้น หรือไม่มีเหตุปัจจัยให้จิตดวงนั้นเกิดขึ้น เจตสิกที่จะประกอบกับจิตดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน และเวลาเกิดก็ต้องเกิดพร้อมกันเสมอ เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า เอกุปปาทะ คือ เกิดพร้อมกับจิต

๒. เอกนิโรธะ ดับพร้อมกับจิต ในทำนองเดียวกันนั้น เมื่อจิตดับ เจตสิกย่อมดับลงด้วย ไม่มีใครดับก่อน หรือดับทีหลัง หมายความว่า จิตและเจตสิกทั้งสองอย่างนี้ มีสภาวะเป็นนามธรรมด้วยกัน มีความเป็นไปร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และมีอายุเท่ากัน เพราะฉะนั้น จิตมีอายุเท่าใด เจตสิกทั้งหลายที่ประกอบกับจิตย่อมมีอายุเท่ากันด้วย จึงสามารถดับพร้อมกันได้ เมื่อหมดอายุลง คือ อายุของจิตและเจตสิกทั้งหลาย ย่อมเพียง ๓ ขณะเล็กเท่านั้น ได้แก่ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับไป รวม ๓ อนุขณะนี้ เรียกว่า หนึ่งขณะใหญ่ของจิตและเจตสิก หรือเรียกว่า จิตตุปบาท แปลว่า การเกิดขึ้นของจิตพร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ จำนวน ๑ ขณะ แต่ว่า อายุ ๓ ชั่วอนุขณะของจิตและเจตสิกนั้น เป็นเวลาเล็กน้อยมาก เทียบไม่ได้กับ ๑ เสี้ยวในแสนเสี้ยวหรือล้านเสี้ยวของวินาที เพราะแค่เพียง ๑ วินาที หรือเท่ากับชั่วระยะเวลาช้างกระดิกหูหรืองูแลบลิ้นนั้น จิตและเจตสิกเกิดดับได้เป็นแสนโกฏิขณะ ซึ่งเป็นความรวดเร็วยิ่งกว่ารูปธรรมถึง ๑๗ เท่า [สำหรับนิปผันนรูป] เพราะจิตเจตสิกเกิดดับไป ๑๗ ขณะ นิปผันนรูปจึงเกิดดับไป ๑ ขณะ แม้แต่รูปธรรม เช่น หลอดนีออนไฟฟ้า ที่เกิดดับประมาณ ๓๐๐ กว่าขณะต่อวินาที เราก็ยังสังเกตเห็นได้ยาก ส่วนจิตและเจตสิกนั้นมีความไวกว่าไฟฟ้าถึง ๑๗ เท่า จึงเป็นการยากที่จะสังเกตเห็นได้ มีแต่พระปัญญาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะรู้เท่าทันได้ เพราะฉะนั้น ความเป็นไปของจิตเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมนี้ จึงอยู่ในขอบข่ายแห่งพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จิตเจตสิกทั้งหลาย ถึงแม้จะเกิดดับรวดเร็วอย่างไร แต่ก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการสับสนปนเปกันแต่อย่างไร จึงชื่อว่า เอกนิโรธะ คือ ดับพร้อมกับจิต

๓. เอกาลัมพณะ มีอารมณ์อันเดียวกับจิต หมายความว่า อารมณ์ที่เจตสิกเข้าไปรับรู้นั้น ย่อมเป็นอารมณ์เดียวกับที่จิตเข้าไปรับรู้อยู่นั่นเอง เช่น เมื่อจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรูปารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับจักขุวิญญาณจิตทั้งหมด ต้องรับรู้รูปารมณ์ด้วย จะไปรับอารมณ์อื่นนอกจากรูปารมณ์นั้นไม่ได้ เมื่อโสตวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับสัททารมณ์ เจตสิกที่ประกอบกับโสตวิญญาณจิตทั้งหมด ต้องรับสัททารมณ์ด้วย จะไปรับอารมณ์อย่างอื่นนอกจากสัททารมณ์ย่อมไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า เอกาลัมพณะ คือ มีอารมณ์อันเดียวกับจิต

๔. เอกวัตถุกะ มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกับจิต หมายความว่า สถานที่อาศัยเกิดของเจตสิก ย่อมเป็นชนิดเดียวกับสถานที่อาศัยเกิดของจิตนั่นเอง เช่น จักขุวิญญาณจิตอาศัยจักขุวัตถุคือประสาทตาเกิด เจตสิกที่ประกอบกับจักขุวิญญาณจิต ต้องอาศัยจักขุวัตถุเกิดด้วย โสตวิญญาณอาศัยโสตวัตถุคือประสาทหูเกิด เจตสิกที่ประกอบกับโสตวิญญาณจิต ต้องอาศัยโสตวัตถุเกิดด้วย ฆานวิญญาณจิตอาศัยฆานวัตถุคือประสาทจมูกเกิด เจตสิกที่ประกอบกับฆานวิญญาณจิต ต้องอาศัยฆานวัตถุเกิดด้วย ชิวหาวิญญาณจิตอาศัยชิวหาวัตถุคือประสาทลิ้นเกิด เจตสิกที่ประกอบกับชิวหาวิญญาณจิตทั้งหมดต้องอาศัยชิวหาวัตถุเกิดด้วย กายวิญญาณจิตอาศัยกายวัตถุคือประสาทกายเกิด เจตสิกที่ประกอบกับกายวิญญาณจิตทั้งหมดต้องศัยกายวัตถุเกิดด้วย หรือมโนวิญญาณจิตอาศัยหทยวัตถุเกิด เจตสิกที่ประกอบกับมโนวิญญาณจิตทั้งหมด ก็ต้องอาศัยหทยวัตถุเกิดด้วย จะอาศัยวัตถุรูปอื่นเกิดที่นอกจากจิตดวงนั้นอาศัยเกิดอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า เอกวัตถุกะ คือ มีสถานที่อาศัยเกิดอย่างเดียวกับจิต

เมื่อครบลักษณะ ๔ ประการนี้แล้ว สภาวธรรมเหล่านั้น ย่อมได้ชื่อว่า เจตสิก ในการที่พระอนุรุทธาจารย์แสดงลักษณะของเจตสิกไว้ถึง ๔ ประการเช่นนี้ เพื่อให้รู้ว่า ธรรมชาติใดมีลักษณะครบองค์ ๔ นี้บริบูรณ์ ธรรมชาตินั้น ได้ชื่อว่า เจตสิก ถ้าธรรมชาติใดมีลักษณะไม่ครบองค์ ๔ นี้ มีเพียงองค์ ๑ หรือ ๒ องค์เท่านั้น ธรรมชาตินั้น ย่อมไม่ชื่อว่า เจตสิก เพราะรูปธรรมที่เกิดอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย หรือสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย รูปบางอย่างเกิดพร้อมกับจิต แต่ไม่ได้ดับพร้อมกับจิตก็มี เช่น กัมมชรูป, จิตตชรูป [เว้นวิญญัตติรูป ๒], อุตุชรูป, อาหารชรูป เหล่านี้ เมื่อเวลาเกิด เกิดพร้อมกับจิต แต่ดับทีหลังจิตดวงนั้น รูปบางอย่างดับพร้อมกับจิต แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกับจิตดวงที่ตนดับพร้อมด้วยนั้นก็มี เช่น กัมมชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป ที่เกิดพร้อมกับอุปปาทขณะของจิตดวงก่อน ๆ และจิตตชรูปที่นอกจากวิญญัตติรูป ๒ เมื่อเกิดครบอายุ ๕๑ ขณะเล็กของนามธรรมแล้ว ย่อมดับลงพร้อมกับจิตดวงที่ ๑๗ แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกับจิตดวงที่ ๑๗ นั้น ส่วนกัมมชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป ที่เกิดพร้อมกับฐีติขณะ หรือ ภังคขณะ ของจิตดวงนั้น ไม่ได้เป็นทั้งเอกุปปาทะ และเอกนิโรธะ เพราะรูปเหล่านั้น ไม่ได้เกิดพร้อมกับจิตและไม่ได้ดับพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง เพราะว่า รูปเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในขณะที่จิตตั้งอยู่แล้ว เรียกว่า ฐีติขณะของจิต หรือเกิดขึ้นในขณะที่จิตนั้นกำลังดับลง ที่เรียกว่า ภังคขณะของจิตดวงนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |