| |
อานิสงส์ของผู้ที่ไม่ประทุษร้ายมิตร ๑๐ ประการ   |  

บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายทรยศต่อมิตรหรือบุคคลที่ตนคบหาสมาคมทั้งหลาย อันเป็นสภาวะของอโทสเจตสิกนั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ ๑๐ ประการ คือ

๑. ย่อมไม่อดอยาก หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น จะไป ณ สถานที่ใด ๆ ก็ตาม ย่อมไม่อดอยากด้วยปัจจัย ๔ ย่อมมีอาหารเลี้ยงดูมากมาย ทั้งสามารถเป็นที่อาศัยพึ่งพิงของบุคคลทั้งหลายได้ เพราะบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมยังเมตตาจิตให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้พบเห็นทั้งหลาย เหล่าเทวดา มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายย่อมรักใคร่เอ็นดูบุคคลนั้น

๒. ย่อมได้รับการบูชาในที่ทุกแห่ง หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมได้รับการบูชาด้วยอามิสบูชา คือ ด้วยวัตถุสิ่งของอันเลิศ และปฏิบัติบูชา คือ ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ฐานะของตน จากบุคคลทั้งหลายที่ได้ประสบพบเห็น ไม่มีเวรภัยเกิดขึ้นในที่นั้น ๆ

๓. ไม่ถูกข่มเหงรังแก หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมยังเมตตาจิตให้เกิดขึ้นแก่บุคคลทั้งหลายที่ได้ประสบพบเห็นเข้า แม้แต่โจรก็ไม่ข่มเหงรังแกบุคคลนั้น พระราชาผู้ทรงธรรมก็ไม่ทรงดูหมิ่นบุคคลนั้น กลับทรงยกย่องสรรเสริญให้ปรากฏเกียรติคุณแก่บุคคลทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมปลอดภัยจากข้าศึกศัตรูทั้งปวงได้

๔. ได้รับปฏิสันถารอย่างดี หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมยังเมตตาจิตให้เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้ประสบพบเห็นในสถานที่ต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นไป บุคคลที่ได้พบเห็นย่อมเกิดความรักความเคารพประดุจญาติสนิทมิตรสหายที่จากกันไปเป็นเวลานาน เมื่อกลับมาแล้ว ย่อมได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ด้วยอามิสปฏิสันถาร คือ การต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของ และด้วยธัมมปฏิสันถาร คือ การต้อนรับด้วยความเอื้อเฟื้อในธรรม

๕. ย่อมได้รับการสักการะอย่างยอดเยี่ยม หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมเป็นที่รักที่พอใจของบุคคลทั้งหลายที่ได้ประสบพบเห็นได้คบหาสมาคมด้วย บุคคลทั้งหลายย่อมรักเคารพและสรรเสริญบุคคลนั้นด้วยเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ ตามสมควรแก่ฐานะของบุคคลนั้น

๖. ย่อมได้รับการบูชาอันยอดเยี่ยม หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมได้รับการบูชาจากบุคคลทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ เทวดา มาร พรหม และหมู่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยอามิสบูชา คือ วัตถุสิ่งของ และปฏิบัติบูชา ด้วยการปฏิบัติต่อบุคคลนั้นโดยความเคารพเอื้อเฟื้อ มีเมตตา ความรักความปรารถนาดีต่อบุคคลนั้นอย่างจริงใจ

๗. มีความรุ่งเรืองมีศิริ หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและหน้าที่การงานตามลำดับ ย่อมได้รับยศได้ตำแหน่งอันทรงเกียรติ ไป ณ สถานที่ใดย่อมก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่สถานที่นั้นและแก่บุคคลทั้งหลายในสถานที่นั้น

๘. ย่อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์โภคทรัพย์สมบัติมากมาย หรือประกอบกิจการงานใดที่เป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์แล้ว โภคทรัพย์ย่อมบังเกิดขึ้นจากกิจการงานนั้นมากกว่าบุคคลอื่น เช่น เลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงของบุคคลนั้นย่อมเกิดขึ้นและเจริญเติบโตดี ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร พืชพันธุ์ข้าวกล้าย่อมผลิผลให้เป็นอันมาก ยังความปีติยินดีและความพึงพอใจให้เกิดแก่บุคคลนั้นได้ในทุกอาชีพ

๙. ย่อมได้ที่พึ่งอันประเสริฐ หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ไปสู่สถานที่ใด ย่อมไม่เดือดร้อน ย่อมมีที่พึ่งพำนักอย่างสุขกายสบายใจ และผู้ทรงศีลทรงธรรมหรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมอนุเคราะห์บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรด้วยอรรถด้วยธรรมอันงาม ย่อมไม่อนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่ผิด

๑๐. ศัตรูไม่เบียดเบียน หมายความว่า บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรนั้น ย่อมยังเมตตาจิตให้เกิดขึ้นแก่บุคคลและสัตว์ทั้งหลาย แม้แต่ศัตรูหมู่อมิตรทั้งหลาย เมื่อได้พบเห็นและได้รู้กิตติศัพท์ของบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรแล้ว ย่อมไม่เบียดเบียนรังแก ไม่ปล้นสะดมลักขโมยสิ่งของของบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร หรือบุคคลผู้เป็นศัตรูทั้งหลายย่อมใจอ่อนกลับกลายเป็นมิตรได้ในที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |