| |
วิการรูป ๓   |  

ความหมายของวิการรูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีฎีการุ.๓๙๕ ได้แสดงความหมายของวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้

ลหุตา หมายถึง ความเบา

มุทุตา หมายถึง ความอ่อน

กัมมัญญะ หมายถึง รูปที่ควรแก่กิริยา หมายความว่า รูปที่เหมาะสมแก่กิริยา [การกระทำ]

กัมมัญญตา หมายถึง ความควรแก่กิริยานั่นเอง

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๙๖ ท่านได้แสดงความหมายของวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้

ความคล่องแคล่ว ชื่อว่า ลหุตา

ความอ่อนละมุน ชื่อว่า มุทุตา

ความควรแก่การงาน ชื่อว่า กัมมัญญตา

พึงทราบสันนิษฐานว่า ก็รูปปวัตติมีความแคล่วคล่องเป็นต้นเหล่านั้น ได้แก่ ความไม่หนักแห่งรูป ดุจคนไม่มีโรค ความไม่แข็งกระด้าง ดุจหนังที่เขาฟอกดีแล้ว ความอนุกูลแก่สรีระกิริยา ดุจทองที่เขาหลอมดีแล้ว มีตามลำดับ

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๓๙๗ ได้แสดงความหมายของวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการรูป คือ รูปที่แสดงอาการพิเศษ เป็นอาการเบา อาการอ่อน และอาการพอดีของนิปผันนรูป ย่อมเกิดขึ้นแก่สิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น วิการรูปทั้ง ๓ นี้ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

บทสรุปของผู้เขียน :

วิการรูป หมายถึง รูปที่แสดงอาการพิเศษ เป็นอาการเบา อาการอ่อน และอาการเหมาะควรแก่การงานต่าง ๆ ของนิปผันนรูป ย่อมเกิดมีขึ้นได้เฉพาะแก่สัตว์มีชีวิตเท่านั้น ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น วิการรูปทั้ง ๓ นี้ย่อมปรากฏเกิดขึ้นไม่ได้เลย หมายความว่า ร่างกายที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพอนามัยดีเป็นปกติ และมีความสมดุลพร้อมที่จะประกอบกิจการงานได้ตามปกตินี้แหละ ชื่อว่า มีการวิการรูป ๓ นี้เกิดร่วมด้วย

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของวิการรูป

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการรูป หมายถึง รูปที่เป็นอาการพิเศษของนิปผันนรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วิเสโส อากาโร = วิกาโร” แปลความว่า อาการอันเป็นพิเศษของนิปผันนรูปที่เกิดขึ้น ชื่อว่า วิการะ ตามวจนัตถะพระบาลีนี้แสดงให้เห็นว่า วิการรูปนี้ไม่มีสภาวะของตนเองโดยเฉพาะ แต่เป็นอาการพิเศษของนิปผันนรูปเท่านั้นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |