| |
วิตักกสัณฐานสูตร   |  

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลรับพระพุทธเจ้าแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร นิมิต ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล เหมือนช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ผู้ฉลาด ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก โยก ถอน ลิ่มอันใหญ่ออก แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่ออาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตนั้นอันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล อันประกอบด้วยฉันทะบ้างโทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ นั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณาโทษของวิตกว่า วิตกนี้ล้วนแต่เป็นอกุศล วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก เมื่อเธอพิจารณาเห็นโทษของวิตกอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั่นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว รู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชังต่อซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ซึ่งผูกติดอยู่ที่คอ [ของตน] แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกว่า วิตกนี้ล้วนแต่เป็นอกุศล วิตกนี้ล้วนแต่เป็นโทษ วิตกนี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุพิจารณาโทษของอกุศลวิตกอันเป็นบาปธรรม ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจในวิตก เมื่อเธอถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจในวิตก วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลได้ จิตย่อมตั้งมั่นด้วยดี สงบเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาพึงหลับตาเสีย หรือหันไปทางอื่นเสีย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอพิจารณาเห็นโทษของวิตกอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจในวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตก สังขารของวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกและสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินเร็ว เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะเดินเร็วทำไมหนอ ถ้ากระไร เราพึงค่อย ๆ เดิน เขาจึงเดินช้า ๆ เขามีความคิดอย่างนี้ว่า เราค่อย ๆ เดินไปทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรยืน เขาจึงยืนนิ่งอยู่ เขาพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า เราจะยืนทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนั่ง เขาพึงนั่ง เขามีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะนั่งทำไมหนอถ้ากระไร เราควรนอน เขาจึงนอนลง ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษคนนั้น ผ่อนทิ้งอิริยาบถหยาบ ๆ เสีย พึงสำเร็จอิริยาบถละเอียด ๆ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น หากว่าเมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตกและสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกและสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับ จิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าไว้ได้แล้วบีบ กด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกและสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตไว้ด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้นบังคับจิตอยู่ได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล

[ผู้ชำนาญในทางเดินแห่งวิตก]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจในวิตกเหล่านั้นอยู่วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นมนสิการสัณฐานแห่งวิตกและสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล เมื่อภิกษุนั้นกัดฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ภายในนั้นแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก เธอจำนงวิตกใด ก็จักตรึกวิตกนั้นได้ เธอไม่จำนงวิตกใด ก็จักไม่ตรึกวิตกนั้น เธอตัดตัณหาได้แล้ว คลี่คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ [ได้มารู้ยิ่งซึ่งธรรมของท่านที่เป็นพระอรหันต์โดยชอบ]

พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของผู้มีพระภาคเจ้า แล้วแล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |