| |
ลักขณาทิจตุกะของกัมมัญญตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของกัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ นี้ อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัยญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะจิตตะอะกัมมัญญะตาวูปะสะมะลักขะณา มีความสงบจากความไม่ควรแก่การงานของจิตและเจตสิก เป็นลักษณะ หมายความว่า กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมมีลักษณะที่เหมาะความแก่การงานหรือมีความพร้อมที่จะรับรู้อารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้นและพร้อมที่จะกระทำการงานของตนให้สำเร็จเรียบร้อยไป เพราะฉะนั้น เมื่อกัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้นสงบระงับจากความไม่เหมาะควรแก่การงานทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ ความเหนื่อยหน่าย ความท้อแท้ ความเซื่องซึม ความเชื่องช้าอืดอาด เป็นต้น สภาวธรรมเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้สัมปยุตตธรรมจางคลายจากความขะมักเขม้นต่อในการงานอันดีงาม เพราะฉะนั้น บุคคลที่ต้องการความพร้อมของจิตและเจตสิก จึงต้องปลูกกัมมัญญตาเจตสิกให้เกิดขึ้นในจิตใจอยู่เสมอ อันจะเป็นอุปการะในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไป

๒. กายะจิตตะอะกัมมัญญะตานิททะมะนะระสา มีการขจัดภาวะที่ไม่สมควรแก่การงานของจิตเจตสิกเป็นกิจ หมายความว่า สภาพของกัมมัญญตาเจตสิกนี้ ย่อมมีความพร้อมที่จะกระทำกิจการงานที่ดีงาม เพราะฉะนั้น เมื่อกัมมัญญตาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมขจัดความไม่เหมาะควรหรือความไม่พร้อมของจิตและเจตสิกให้หมดไป ได้แก่ การทำลายสภาวธรรมที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดความอาพาธ มีความเหนื่อยหน่าย ความท้อแท้ ความหยาบกระด้าง เป็นต้นให้หมดไป เมื่อจิตใจหมดจากภาวะแห่งความอาพาธเหล่านั้นแล้ว ย่อมมีความสดชื่น และมุ่งมั่นต่อการงานอันดีงามทั้งหลาย โดยไม่มีความย่อท้อถดถอยจากการงานนั้น

๓. กายะจิตตานัง อารัมมะณะกะระณะสัมปัตติปัจจุปปัฏฐานา มีความสมบูรณ์ด้วยการกระทำให้จิตเจตสิกเหมาะควรในการรับอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า จิตของบุคคลทั้งหลาย ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรม ย่อมเป็นสภาพจิตที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส มักถูกกิเลสครอบงำให้เกิดภาวะอาพาธทางจิต ได้แก่ เกิดความกำหนัดยินดีในอารมณ์ที่น่าชอบใจ เกิดปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งขัดเคืองในอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ เกิดความยึดมั่นในความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เกิดความเย่อหยิ่งจองหองลำพองตน เกิดความอิจฉาริษยาในทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เกิดความหวงแหนในทรัพย์สมบัติของตน เกิดความลังเลสงสัยคิดไม่ตกในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งสภาวธรรมเหล่านี้เกิดพร้อมด้วยความฟุ้งซ่านซัดส่าย จึงทำให้จิตและเจตสิกขาดความพร้อมที่จะกระทำกิจการงานที่ดีงามหรือไม่พร้อมที่จะรองรับสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถทำคุณงามความดีได้ หรือไม่สามารถนึกคิดในสิ่งที่ดีงามได้ เรียกว่า สภาพจิตที่บกพร่อง ต่อเมื่อบุคคลหมั่นอบรมจิตด้วยกัมมัญญตาเจตสิกที่เกิดพร้อมด้วยสภาวธรรมฝ่ายดีงามให้เกิดมีขึ้นและมีกำลังมากแล้ว จิตใจของบุคคลนั้นย่อมเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ มีความพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่ดีงามได้

๔. กายะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า หน้าที่ของกัมมัญญตาเจตสิกนั้นย่อมทำสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกให้มีความเหมาะควรต่อการงานอันดีงาม ซึ่งจะต้องมีความเกี่ยวพันกับจิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น กัมมัญญตาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้จึงต้องมีสัมปยุตตธรรมที่สามารถเกิดร่วมกันได้ปรากฏขึ้น หรือมีเหตุปัจจัยให้เกิดสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นเต็มเปี่ยมแล้ว กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จึงจะปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับจิตและเจตสิกเหล่านั้นในขณะเดียวกันได้ โดยเกิดพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน อาศัยสถานที่เกิดอันเดียวกัน และดับลงพร้อมกัน ถ้าขาดความพร้อมเหล่านี้แล้ว กัมมัญญตาเจตสิกย่อมไม่สามารถเกิดพร้อมกับสัมปยุตตเหล่านั้นได้

กายกัมมัญญตาเจตสิกและจิตตกัมมัญญตาเจตสิก เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ คือ กิเลสที่เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้กระทำสิ่งที่ดีงามได้โดยสะดวก ซึ่งกระทำความไม่เหมาะควรแก่การงานของจิตเจตสิก ได้แก่

๑. กามฉันทนิวรณ์ คือ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่ายินดีน่าปรารถนา ซึ่งเป็นอารมณ์หยึดหน่วงของกามฉันทนิวรณ์

๒. พยาปาทนิวรณ์ คือ ความโกรธความอาฆาตพยาบาทจองเวร เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจและผูกจิตไว้กับสภาวะของความโกรธอาฆาตนั้น ยากที่จะคลายออกได้

๓. ถีนมิทธนิวรณ์ คือ ความท้อแท้จากคุณงามความดี ความเบือนหน้าหนีจากการงานอันเป็นกุศล แล้วหันเหไปสู่สภาวธรรมที่เป็นอกุศลต่าง ๆ หรือความเซื่องซึมหง่อยเหงา ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้น อันเป็นความท้อแท้ของจิต

๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ อุทธัจจะเป็นสภาวธรรมที่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ตั่งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว คิดไขวคว้าหาอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ เมื่อคิดฟุ้งซ่านมากไปย่อมเกิดความรำคาญใจตามมาภายหลัง

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ คือ ความเรรวนของจิต เนื่องมาจากการจับอารมณ์ไม่มั่นคง เพราะสภาพของวิจิกิจฉานั้นย่อมสงสัยและลังเลใจ โดยอาการเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ที่ปรารภถึง ไม่สามารถปลงใจเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

นิวรณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นเครื่องกั้นจิตของบุคคลไม่ให้แล่นไปสู่หนทางที่ดีงามได้ ย่อมหน่วงเหนี่ยวผูกพันจิตของบุคคลไว้ให้ติดอยู่กับสภาวะของนิวรณ์นั้น ตราบใดที่ยังละคลายไม่ได้ จิตย่อมจะติดอยู่กับสภาพของนิวรณ์นั้น ๆ เรื่อยไป

อีกนัยหนึ่ง กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธา หมายความว่า สภาวะของกัมมัญญตาเจตสิกนั้น ย่อมทำให้บุคคลมีความมุ่งมั่นต่อการงานอันดีงามโดยไม่ท้อถอย ทำให้ขวนขวายต่อการงานอันเป็นกุศล ย่อมเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของบุคคลผู้พบเห็น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสภาวธรรมที่นำมาซึ่งความเกษม เพราะเมื่อบุคคลมีความเหมาะควรต่อการทำประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมประสบแต่ความสุขและโชคดี ตลอดถึงเป็นแนวทางการสร้างบารมีธรรม อันนำไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงในที่สุด เปรียบเหมือนความหมดจดแห่งทองที่ได้รับการบุดีแล้ว ฉันนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |