| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับกัมมัญญตาเจตสิก   |  

อักขณกาลสูตร

[สมัยที่พลาดโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการ]

ยุคสมัยที่บุคคลไม่มีโอกาสได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนานั้น เรียกว่า อักขณกาล แปลว่า สมัยที่ไม่เหมาะควรแก่การงานอันเป็นกุศล คือ สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมอยู่ แต่ว่า บุคคลนั้นตกอยู่ในฐานะ ๘ ประการ คือ

๑. เกิดอยู่ในนรก

๒. เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน

๓. เกิดในกำเนิดเปรต

๔. เกิดเป็นเทพที่อายุยืนเกินไป [เกิดเป็นอรูปพรหม]

๕. เกิดอยู่ในถิ่นที่ห่างไกล หรืออยู่ในถิ่นของพวกคนป่าคนดงที่ไม่มีความรู้

๖. เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิอย่างเหนียวแน่น ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

๗. เป็นคนด้อยปัญญา โง่เขลา

๘. เกิดในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงธรรมโปรด

เพราะเหตุปัจจัยเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทำให้บุคคลนั้นพลาดโอกาสที่จะได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังพระพุทธภาษิตที่มาในอักขณสูตร พระสุตตันตปิฎก ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนทั้งหลายผู้มิได้สดับพระสัทธรรมย่อมพูดกันว่า ชาวโลกทำงานกันในเวลา ดังนี้ แต่ว่า ปุถุชนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเวลาใดควรทำ เวลาใดไม่ควรทำ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลาที่มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการประพฤติพรหมจรรย์ มี ๘ ประการ ๘ ประการนั้นเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกธรรมอันนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตประกาศแล้ว ตถาคตย่อมแสดงอยู่ แต่ว่าบุคคลนั้นเข้าถึงนรกเสีย เวลานี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นประการที่ ๑ บุคคลนั้นเข้าถึงกำเนิดสัตว์เดรัจฉานเสีย เป็นประการที่ ๒ บุคคลนั้นเข้าถึงปิตตวิสยเปรตเสีย เป็นประการที่ ๓ บุคคลนั้นเข้าถึงหมู่เทพผู้มีอายุยืนเกินไปหมู่ใดหมู่หนึ่ง เป็นประการที่ ๔ บุคคลนั้นกลับมาเกิดในปัจจันตชนบทและอยู่ในพวกคนป่าคนดงที่ไม่มีความรู้อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปมาหาสู่ เป็นประการที่ ๕ บุคคลนั้นแม้จะเกิดในมัชฌิมประเทศใกล้พระพุทธศาสนาแต่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตไปว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล เป็นต้น เป็นประการที่ ๖ อนึ่ง แม้บุคคลนั้นจะเกิดในมัชฌิมประเทศ แต่เป็นคนโง่เขลา ด้อยปัญญา หรือบ้าใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิตได้ เป็นประการที่ ๗ อนึ่ง ธรรมอันนำความสงบมาให้นั้น ย่อมเป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตประกาศแล้ว แต่ตถาคตยังมิได้แสดง ถึงแม้บุคคลนั้นจะกลับมาเกิดในมัชฌิมประเทศ และมีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่บ้าใบ้ สามารถที่จะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุพภาษิตได้ก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ก็มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เช่นเดียวกัน เป็นประการที่ ๘ ฯ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |