| |
รูปปรมัตถ์ ๕ นัย   |  

พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงการสงเคราะห์รูปปรมัตถ์ไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะเป็น ๕ นัยรุ.๑๓ ดังคาถาสังคหะที่ ๒ แสดงว่า

คาถาสังคหะที่ ๒

[คาถาแสดงการสงเคราะห์รูปปรมัตถ์ ๕ นัย]

สมุทฺเทสา วิภาคา จ    สมุฎฺานา กลาปโต
ปวตฺติกฺกมโต เจติ    ปญฺจธา ตตฺถ สงฺคโห ฯ

แปลความว่า

ในรูปปริจเฉทนั้น มีสังคหะ [การรวบรวม] รูปปรมัตถ์ โดยอาการ ๕ นัย คือ โดยสมุทเทสนัย [การแสดงรูปโดยย่อ] ๑ โดยวิภาคนัย [การจำแนกรูปโดยพิสดาร] ๑ โดยสมุฏฐานนัย [การแสดงเหตุให้รูปเกิด] ๑ โดยกลาปนัย [การแสดงหมวดหมู่ของรูป] ๑ และโดยปวัตติกกมนัย [ความเป็นไปคือความเกิดและความดับของรูป] ๑

อธิบายความหมาย

ในอภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีแปลรุ.๑๔ นั้น ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงอธิบายการประมวลรูป ๕ นัย ไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า สมุทฺเทส [การแสดงโดยย่อ] หมายถึง การแสดงคือการพูดโดยย่อ

คำว่า วิภาค [การจำแนก] หมายถึง การจำแนกรูปที่แสดงโดยย่อ ขยายความอีก

คำว่า สมุฏฐาน [เหตุให้เกิด] หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดรูป มีกรรม เป็นต้น

คำว่า กลาป [หมวดหมู่] หมายถึง สิ่งที่เป็นส่วนย่อยต่าง ๆ เข้าไปรวมกัน ได้แก่ กลุ่มหรือกอง เป็นต้น

คำว่า ปวตฺติกฺกมโต แปลว่า โดยลำดับแห่งการเกิดขึ้น

ในอภิธัมมัตถสังคหฎีกาชื่อว่าอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๑๕ ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงอารัมภบทเบื้องต้นแห่งรูปสังคหวิภาคไว้ดังนี้

บัดนี้ เพื่อต้องการจะตั้งมาติกาเพื่อจำแนกรูปตามที่ปฏิญญาไว้แล้ว ท่านอาจารย์ [พระอนุรุทธาจารย์] จึงกล่าวว่า สมุทฺเทสา เป็นต้น การแสดงโดยย่อ ชื่อว่า สมุทเทส การจำแนกออกไปด้วยอำนาจแห่งรูปมีอย่างเดียวเป็นต้น ชื่อว่า วิภาค เหตุที่ชื่อว่า สมุฏฐาน เพราะอรรถว่า เป็นแดนตั้งขึ้นแห่งผล ได้แก่ ปัจจัยที่ทำให้รูปเกิด มีกรรมเป็นต้นหมวด ๑๐ มีจักขุทสกะเป็นต้น ชื่อว่า กลาป บทว่า ปวตฺติกฺกมโต จ ได้แก่ ตามลำดับความเกิดขึ้นแห่งรูปทั้งหลาย โดยความต่างแห่งภพ กาล และสัตว์

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับอารัมภบทเบื้องต้นแห่งรูปปรมัตถ์ไว้ดังต่อไปนี้

ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๑๖ ได้แสดงความหมายของนัยทั้ง ๕ นั้นไว้ดังต่อไปนี้

การแสดงสงเคราะห์รูป ในรูปปริจเฉทนี้พระอนุรุทธาจารย์แสดงเป็น ๕ นัยคือ

๑. รูปสมุทเทสนัย การแสดงรูปโดยสังเขป

๒. รูปวิภาคนัย การแสดงรูปโดยพิสดาร

๓. รูปสมุฏฐานนัย การแสดงสมุฏฐานของรูป

๔. รูปกลาปนัย การแสดงรูปที่เกิดขึ้นเป็นหมวด ๆ

๕. รูปปวัตติกกมนัย การแสดงความเกิดขึ้นพร้อมด้วยความดับของรูปตามลำดับ

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ เป็นต้นรุ.๑๗ ได้แสดงขยายความของนัยทั้ง ๕ นั้นไว้ดังต่อไปนี้

พระอนุรุทธาจารย์ แสดงการสงเคราะห์รูปปรมัตถ์ในอภิธัมมัตถสังคหะปริจเฉทที่ ๖ นี้ไว้เป็น ๕ นัย คือ

๑. รูปสมุทเทสนัย เป็นนัยแห่งการแสดงภาวะของรูปธรรมโดยสังเขป เพื่อให้รู้ถึงคุณลักษณะของรูปแต่ละรูป ว่ามีคุณลักษณะอย่างไร

๒. รูปวิภาคนัย เป็นนัยแห่งการแสดงรูปธรรม โดยการจำแนกออกเป็นส่วน ๆ หรือเป็นคู่ ๆ ซึ่งเป็นการจำแนกรูปโดยพิสดาร

๓. รูปสมุฏฐานนัย เป็นนัยแห่งการแสดงสมุฏฐาน คือ เหตุที่ทำให้รูปธรรมเกิดขึ้น

๔. รูปกลาปนัย เป็นนัยแห่งการแสดงความเกิดขึ้นร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ ของรูป

๕. รูปปวัตติกกมนัย เป็นนัยแห่งการแสดงความเกิดขึ้นพร้อมทั้งความดับไปของรูปธรรมตามลำดับ คือ การแสดงความเป็นไปของรูปธรรมนั้นเอง

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อความจากคัมภีร์ต่าง ๆ มาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติมอีก ดังต่อไปนี้

๑. รูปสมุทเทสนัย การแสดงรูปโดยสังเขป หมายถึง เป็นนัยที่แสดงสภาวะของรูปธรรมโดยสังเขป เพื่อให้รู้ถึงคุณลักษณะของรูปแต่ละรูป ว่ามีความหมายอย่างไร มีคุณลักษณะเป็นอย่างไร และแบ่งประเภทออกไปเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังแสดงรายละเอียดของรูปออกไปอีกว่า รูปไหนเป็นส่วนประกอบของอวัยวะอันไหนหรือเกิดอยู่ ณ ส่วนไหนแห่งร่างกายของสัตว์ หรือรูปอันไหนเป็นส่วนประกอบของสิ่งไม่มีชีวิต ที่สามารถกำหนดพิจารณารู้ได้

๒. รูปวิภาคนัย การแสดงจำแนกรูปโดยพิสดาร หมายถึง เป็นนัยที่แสดงรูปธรรม โดยการจำแนกรูปออกเป็นส่วน ๆ โดยความหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นการจำแนกรูปโดยพิสดาร แบ่งเป็น ๒ หมวด คือ ๑] เอกมาติกา เป็นการแสดงรูปธรรมทั้งหลายที่มีชื่อและความหมายเป็นไปอย่างเดียวกัน ๒] ทุกมาติกา เป็นการแสดงความหมายของรูปธรรมเป็นคู่ ๆ โดยจำแนกรูปธรรมทั้งหมดออกเป็น ๒ ประเภท มีชื่อและความหมายแตกต่างกันเป็น ๒ อย่าง รวมทั้งหมดมี ๑๑ คู่ด้วยกัน

๓. รูปสมุฎฐานนัย การแสดงสมุฏฐานของรูป หมายถึง เป็นนัยที่แสดงสมุฏฐาน คือ ตัวต้นเหตุที่ทำให้รูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น มี ๔ ประการคือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ซึ่งทำให้รูปธรรมของสัตว์มีชีวิตกับรูปธรรมของสิ่งไม่มีชีวิตนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะสมุฏฐานที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้นนั้นเอง เป็นตัวประธานที่ทำการปรุงแต่งให้เป็นไป

๔. รูปกลาปนัย การแสดงรูปที่เกิดขึ้นเป็นหมวดหมู่ หมายถึง เป็นนัยที่แสดงความเกิดขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า กลาป ซึ่งมีประเภทตามสมุฏฐานที่ทำให้รูปเกิดขึ้น ๔ ประการ จึงแบ่งเป็นกลาปรูป ๔ ประเภท ได้แก่ ๑] กัมมชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม ๒] จิตตชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากจิต ๓] อุตุชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพแวดล้อม และ ๔] อาหารชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากอาหารหรือเป็นกลุ่มอาหารรูปต่าง ๆ

๕. รูปปวัตติกกมนัย การแสดงความเกิดขึ้นพร้อมด้วยความดับของรูปตามลำดับ หมายถึง เป็นนัยที่แสดงการเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเป็นไปและความดับของรูปธรรมทั้งหลายตามลำดับแห่งกาลทั้ง ๓ คือ ๑] ปฏิสนธิกาล คือ ขณะที่สัตว์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรก ๒] ปวัตติกาล คือ ขณะที่สัตว์นั้นกำลังเป็นไปอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ๓] จุติกาล คือ ขณะที่สัตว์นั้นกำลังตายจากภพชาติ นอกจากนี้ ยังแสดงความเป็นไปของอุตุชรูปและอาหารชรูปที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกายของสัตว์ คือ เกิดเป็นสิ่งไม่มีชีวิตต่าง ๆ มีต้นไม้ ภูเขา อากาศ เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |