| |
เจตนา ๔ ประเภท   |  

ในการที่จะกระทำกุศลให้สำเร็จบริบูรณ์ได้นั้น ต้องอาศัยเจตนาเป็นหลัก เป็นประธาน เพราะเจตนาเป็นตัวจัดแจงปรุงแต่งให้เกิดกรรมทุกอย่าง ฉะนั้น ผู้จะทำกุศลให้เกิดขึ้นอย่างครบบริบูรณ์ได้นั้น จึงต้องปรับปรุงเจตนาให้ดีอยู่เสมอ คือ

๑. บุพพเจตนา เจตนาก่อนทำ หมายความว่า ต้องมีความตั้งใจอย่างมั่นคงที่จะทำกุศลนั้น ๆ ให้สำเร็จลงไปด้วยดี โดยไม่บกพร่อง

๒. มุญจนเจตนา เจตนาในขณะทำ หมายความว่า ต้องมีความตั้งใจในการกระทำกุศลนั้น ๆ อย่างจริงจังและจริงใจ ไม่เสแสร้งหรือแกล้งทำ หรือจำใจทำ

๓. อปรเจตนา เจตนาหลังจากทำเสร็จใหม่ ๆ หมายความว่า ต้องสร้างความภาคภูมิที่ได้ทำสิ่งนั้นลงไปแล้ว โดยไม่เสียดาย หรือขัดข้องหมองใจ หรือยึดติดด้วยอำนาจอกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยการปรับปรุงจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ

๔. อปราปรเจตนา เจตนาหลังจากทำเสร็จไปแล้ว หมายความว่า หลังจากได้ทำกุศลนั้น ๆ เสร็จไปแล้ว เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี หรือ ในกาลอื่นหลังจากทำกุศลนั้น ๆ เสร็จไปแล้ว ไม่ว่าจะช้านานเพียงใดก็ตาม แต่คราวใดที่ปรารภถึงการกระทำนั้นก็ดี ย่อมปรารภถึงสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำก็ดี ก็พยายามประคับประคองสภาพความรู้สึกนั้นให้ดีและสร้างความภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนั้นลงไป โดยไม่ให้อกุศลเข้ามาแทรกแซงได้

เมื่อกระทำได้ดังนี้ มหากุศลจิตย่อมเกิดได้อย่างสม่ำเสมอและมีกำลังมากขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |