| |
การเจริญธาตุกัมมัฏฐาน ๔   |  

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรครุ.๑๒๐ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเจริญจตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐานไว้ต่อไปนี้

คำว่า กำหนด คือ การสันนิษฐานด้วยสามารถเข้าไปกำหนดสภาพ การกำหนดธาตุทั้ง ๔ ชื่อว่า จตุธาตุววัตถาน คำว่า ธาตุมนสิการ คือ ใฝ่ใจธาตุ คำว่า ธาตุกัมมัฏฐาน คือ กรรมฐานมีธาตุเป็นอารมณ์ คำว่า จตุธาตุววัตถาน ได้แก่ การกำหนดธาตุ ๔ นี้ โดยใจความเป็นอันเดียวกัน กรรมฐานคือธาตุววัตถานนี้มาแล้วโดยอาการ ๒ อย่างคือ โดยย่อ ๑ โดยพิสดาร ๑ การกำหนดธาตุ ๔ นั้น โดยย่อมาในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยพิสดารมาในมหาหัตถิปโทปมสูตร ในราหูโลวาทสูตร และในธาตุวิภังคสูตร ก็การกำหนดธาตุ ๔ นั้น มาแล้วโดยย่อในมหาสติปัฏฐานสูตร ด้วยสามารถภิกษุผู้เจริญธาตุกัมมัฏฐานผู้มีปัญญาแก่กล้าอย่างนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างนายโคฆาตก์หรือลูกมือของนายโคฆาตก์ผู้ขยัน ฆ่าโคแล้วพึงนับแบ่งเนื้อออกเป็นชิ้น ๆ นั่งในทางใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่แล้ว ตามที่ดำรงอยู่แล้ว โดยธาตุว่า ในกายนี้มี ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วายธาตุ ฉันนั้น ฯ

ความแห่งพระสูตรนั้นว่า เปรียบประดุจนายโคฆาตก์หรือลูกมือของนายโคฆาตก์ผู้ฉลาดนั่นแหละ ผู้อื่นเขาจ้างแล้วด้วยภัตรและบำเหน็จ ฆ่าแม่โคแล้ว ชำแหละแล้ว นั่งแบ่งเป็นส่วน ๆ ในทางใหญ่ ๔ แพร่ง กล่าวคือ ฐานกลางของทางใหญ่ซึ่งแยกไปสู่ ๔ ทิศ ฉันใด ภิกษุย่อมพิจารณากายซึ่งชื่อว่าตามที่ตั้งอยู่ เพราะตั้งอยู่โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอิริยาบถทั้ง ๔ หรือชื่อว่า ตามที่ดำรงแล้ว เพราะตามที่ตั้งอยู่แล้วนั่นเอง โดยความเป็นธาตุอย่างนี้ว่า ในกายนี้มี ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ฉันนั้น มีอธิบายอย่างไร ? มีอธิบายว่า เมื่อนายโคฆาตก์เลี้ยงโคอยู่ก็ดี นำมาสู่ที่ฆ่าก็ดี จูงมาผูกมัดไว้ในที่ฆ่านั้นก็ดี ฆ่าอยู่ก็ดี เห็นโคที่ตนฆ่าตายแล้วก็ดี ความสำคัญหมายว่า แม่โคยังไม่สูญหายไป ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ชำแหละโคนั้นแบ่งออกเป็นชิ้น ๆ แต่เมื่อเธอแบ่งออกแล้วนั่งอยู่ ความสำคัญหมายว่าแม่โคย่อมหายไป กลายเป็นความสำคัญหมายว่า เนื้อ เธอหาคิดอย่างนี้ไม่ว่า เราขายแม่โค คนเหล่านี้ซื้อแม่โคไป อันที่แท้ เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่า เราขายเนื้อ แม้ชนเหล่านี้ย่อมซื้อเนื้อไป ฉันใด แม้ภิกษุนี้ เมื่อครั้งก่อน คือ ในเวลาเป็นปุถุชนคนโง่ จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ความสำคัญหมายว่าสัตว์ ว่าสัตว์เลี้ยง หรือว่าบุคคล ยังไม่สูญหายไปในทันที ตราบเท่าที่ยังมิได้ทำการแยกออก พิจารณากายนี้ตามที่ตั้งอยู่แล้ว ตามที่ดำรงอยู่แล้ว โดยความเป็นธาตุ แต่เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาโดยความเป็นธาตุแล้ว ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์ย่อมสูญหายไป จิตย่อมตั้งจดจ่ออยู่ด้วยสามารถเป็นธาตุฝ่ายเดียว เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคฆาตย์ผู้ขยัน ฯลฯ พึงเป็นผู้นั่งแล้ว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็เช่นเดียวกัน ฯลฯ วาโยธาตุ ฉะนี้ ฯ

แต่ในมหาหัตถิปโทปมสูตร ทรงแสดงโดยพิสดารด้วยสามารถภิกษุผู้บำเพ็ญธาตุกัมมัฏฐานซึ่งมีปัญญาไม่เฉียบแหลมนักอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส ก็ปถวีธาตุภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดที่หยาบแข็ง อันปุถุชนยึดมั่นแล้วเป็นภายในจำเพาะตัว คือ ผม ขน เล็บ ฟัน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรืออันใดอันหนึ่งแม้อื่น ที่หยาบแข็ง อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว ซึ่งเป็นไปในภายในเฉพาะตน ดูกรอาวุโส นี้แหละคือปถวีธาตุอันเป็นไปในภายใน ดังนี้ด้วย ดูกรอาวุโส ก็อาโปธาตุภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดเป็นของเอิบอาบ ถึงความซึมซาบ อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นภายในเฉพาะตัว คือ ดี ฯลฯ มูตร ก็หรืออันใดอันหนึ่งแม้อื่น ที่เป็นของเอิบอาบ ถึงความซึมซาบ อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นไปภายในเฉพาะตัว ดูกรอาวุโส นี้เรียกว่า อาโปธาตุอันเป็นไปภายใน ดังนี้ด้วย ดูกรอาวุโส ก็เตโชธาตุภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดเป็นของร้อน ถึงความเป็นของร้อน อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นไปภายในเฉพาะตัว คือ สิ่งที่เป็นเหตุให้เร่าร้อน ให้ทรุดโทรม ให้ถูกเผาผลาญ ให้ของที่บริโภค ของที่ดื่ม ของที่กัดกิน และของที่ลิ้ม ถึงความย่อยด้วยดี ก็หรืออันใดอันหนึ่งแม้อื่น ที่เป็นของร้อน ถึงความเป็นของร้อน อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว ซึ่งเป็นภายในเฉพาะตัว ดูกรอาวุโส นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ดังนี้ด้วย ดูกรอาวุโส ก็วาโยธาตุอันเป็นไปภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดเป็นลม ถึงความพัดโบก อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นภายในเฉพาะตัว ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดอยู่ในท้อง ลมพัดอยู่ในไส้ ลมที่แล่นไปในอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออกเข้า ก็หรือว่าอันใดอันหนึ่งที่มีลักษณะดังนี้ หรือแม้อันอื่น คือ เป็นลมถึงความพัดโบก อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นไปภายในเฉพาะตัว ดูกรอาวุโส นี้เรียกว่า วาโยธาตุอันเป็นไปภายใน ดังนี้ด้วย

ก็ในมหาหัตถิปโทปมสูตรนี้ฉันใด แม้ในราหุโลวาทสูตรและธาตุวิภังคสูตร ก็เหมือนกันฉันนั้น ในพระสูตรนั้น มีขยายความบทที่ยังไม่กระจ่างดังต่อไปนี้

คำว่า อันเป็นไปภายในเฉพาะตัวทั้ง ๒ นี้เป็นชื่อของสิ่งที่เป็นนิยกะ สิ่งที่เกิดในตน อธิบายว่า สิ่งที่เนื่องกับสันดานของตน ชื่อว่า นิยกะ นิยกะนี้นั้นฉันเดียวกับคำพูดในหมู่หญิงในโลก เขาย่อมเรียกว่า อธิตถี เป็นคำเฉพาะผู้หญิง ฉันใด เรียกว่า เป็นภายใน เพราะเป็นไปในตน เรียกว่า เฉพาะตน เพราะอาศัยตนเป็นไป ฉันนั้น

คำว่า หยาบคือแข้น คำว่า แข็งคือกระด้าง ในคำเหล่านั้น คำที่ ๑ บอกลักษณะ คำที่ ๒ บอกอาการ เพราะว่าปถวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็ง ปถวีธาตุนั้นมีอาการหยาบ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า แข็งฯ

คำว่า อันปุถุชนยึดมั่น คือ ยึดถืออย่างมั่น ได้แก่ ถืออย่างแน่น อย่างนี้ ว่าเรา ว่าของเรา ดังนี้ ความว่า จับแล้ว คลำแล้ว

อนึ่ง ในที่นี้บัณฑิตพึงทราบว่า ท่านแสดงปถวีธาตุโดยอาการ ๒๐ โดยรวมมันสมองเข้าในเยื่อกระดูกด้วย ด้วยบทว่า ก็หรือสิ่งอะไร ๆ แม้อื่น สงเคราะห์ปถวีเข้าในส่วนทั้ง ๓ ที่เหลือ

สภาพที่เอิบคืออาบไปสู่ที่นั้น ๆ โดยความเป็นของซึมแทรกไป เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาโป คือ สภาพที่ไปแล้วในสภาพที่ซึมซาบทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ ด้วยสามารถแห่งสภาพที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ถึงความซึมซาบ สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่ สิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบแห่งอาโปธาตุ

ชื่อว่า ไฟ ด้วยอำนาจความร้อน ชื่อว่า ถึงความเร่าร้อน เพราะเหตุที่ไปแล้วในภาวะที่ร้อนทั้งหลายตามนัยที่กล่าวแล้ว สิ่งนั้นได้แก่อะไร? ได้แก่ สิ่งที่มีลักษณะที่อบอ้าว

คำว่า ก็ด้วยสิ่งใด ความว่า ด้วยสิ่งที่นับว่า ไฟใดกำเริบแล้ว กายนี้ย่อมเร่าร้อน คือ เกิดร้อนรุ่มด้วยภาวะมีมันต้องแก่ประจำทุกวัน เป็นต้น

คำว่า และเป็นเหตุให้ทรุดโทรม คือ เป็นเหตุให้กายนี้คร่ำคร่า คือ ให้ถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์พิกล สิ้นกำลัง และหนังเหี่ยว ผมหงอก เป็นต้น

คำว่า และเป็นเหตุให้ถูกเผาผลาญ คือ สิ่งใดกำเริบแล้ว กายนี้ย่อมถูกเผา และบุคคลนั้นคร่ำครวญอยู่ว่า เราย่อมถูกเผา ๆ ดังนี้ ย่อมหวังการทาน้ำมันเนยที่เคี่ยวแล้วร้อยครั้ง ปล่อยให้เย็น และอินทรีย์ที่เย็นเหมือนน้ำ เป็นต้น และลมอันเกิดแต่พัดใบตาล

คำว่า ให้ของบริโภคของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อยไปด้วยดี คือ เป็นเครื่องถึงความหายไปโดยเป็นรสเป็นต้นด้วยดี แห่งของบริโภคมีข้าวสุกเป็นต้น หรือเครื่องดื่มมีน้ำเป็นต้น หรือของเคี้ยวมีแป้งและอาหารว่างเป็นต้น หรือของลิ้มมีมะม่วงสุก น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้นนี้ ก็ในบรรดาลักษณะเหล่านี้ ลักษณะ ๓ ข้างต้นมีเตโชธาตุเป็นสมุฏฐาน ลักษณะหลังมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว

ชื่อว่า ลม ด้วยอำนาจกระพือพัด ที่ชื่อว่า ถึงความโบกพัด คือ นับเข้าในจำพวกลมทั้งหลายตามนัยที่กล่าวแล้ว สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่สิ่งที่มีลักษณะไหว ชื่อว่า ลมขึ้นเบื้องบน ได้แก่ ลมที่ตีขึ้นข้างบน อันเป็นไปแล้วด้วยอำนาจการอ้วก เป็นต้น ชื่อว่า ลมพัดลงเบื้องต่ำ ได้แก่ ลมที่กดลงเบื้องต่ำที่นำอุจจาระและปัสสาวะเป็นต้นออกมา ชื่อว่า ลมอยู่ในท้อง คือ ลมภายนอกไส้ใหญ่ทั้งหลาย ชื่อว่า ลมในไส้ คือ ลมภายในไส้ใหญ่ ชื่อว่า ลมแล่นไปตามร่างกาย คือ ลมที่เกิดเพราะการงอเข้าและเหยียดออก เป็นต้น ซึ่งซ่านไปสู่อวัยวะน้อยใหญ่ในสรีระทั้งสิ้น ตามแนวแห่งข่ายคือเส้นเอ็น ชื่อว่า ลมอัสสาสะ คือ ลมในจมูกที่เข้าข้างใน ชื่อว่า ลมปัสสาสะ ได้แก่ ลมในจมูกที่ออกข้างนอก และในลมเหล่านี้ ลม ๕ ชนิดตอนต้นมี ๔ สมุฏฐาน ลมอัสสาสะปัสสาสะ มีจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ก็ด้วยบทว่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแม้อื่น ดังนี้ ในทุก ๆ แห่ง ท่านสงเคราะห์อาโปธาตุเป็นต้นเข้าในส่วนที่เหลือทั้งหลาย ธาตุ ๔ เป็นอันท่านให้พิสดารด้วยอาการ ๔๒ คือ ปถวีธาตุโดยอาการ ๒๐ อาโปธาตุโดยอาการ ๑๒ เตโชธาตุโดยอาการ ๔ วาโยธาตุโดยอาการ ๖ ดังพรรณนามาฉะนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |