| |
บทสรุปเรื่องกามาวจรโสภณจิต   |  

กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่ยังเกี่ยวข้องในการรับรู้อารมณ์อันเป็นวัตถุกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกที่เกี่ยวกับกามาวจรจิต เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ซึ่งเป็นกามธรรมโดยมาก แต่เป็นจิตที่มีสภาพดีงาม เพราะมีกลุ่มโสภณเจตสิกเข้ามาประกอบร่วมด้วย นอกจากนี้ กามาวจรโสภณจิตบางดวงยังสามารถรับรู้อารมณ์อย่างอื่นที่นอกจากกามอารมณ์ กล่าวคือ มหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๔ มหากิริยาญาณวิปปยุตตจิต ๔ สามารถรับรู้อารมณ์ได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ย่อมสามารถรับรู้อารมณ์ได้ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ บัญญัติอารมณ์ และโลกุตตรอารมณ์ [ยกเว้นอรหัตตมรรค อรหัตตผล] ส่วนมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ นั้นสามารถรับรู้อารมณ์ได้ทั้งหมดไม่มีเหลือ หมายความว่า สามารถรับรู้อารมณ์ที่เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพานและบัญญัติทั้งหมดไม่มีเหลือ โดยสภาพที่เป็นอารมณ์ ๖ อย่าง ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์และธัมมารมณ์ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตและกาลวิมุตตอารมณ์ ฉะนั้น จึงกล่าวว่า “กามาวจรโสภณจิตนี้ เป็นจิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก” แต่ไม่ได้กล่าวว่า “เป็นจิตที่รับกามอารมณ์อย่างเดียว”

มหากุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ในขณะที่รับรู้อารมณ์ ๖ ทางทวาร ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยปรารภถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม หรือปัจจุบันก็ตาม ย่อมสามารถเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นได้ ทั้งที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาก็มี ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาก็มี เกิดพร้อมด้วยปัญญาก็มี ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยปัญญาก็มี ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก็มี ที่เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก็มี โดยฐานะเป็นชวนจิต คือ เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล ที่จะส่งผลเป็นมหาวิปากจิตและอเหตุกกุศลวิปากจิตในกาลข้างหน้าหรือในชาติหน้าต่อไป นอกจากนี้ มหากุศลจิตยังเป็นบาทเบื้องต้นให้เกิดกุศลจิตอย่างอื่น ๆ กล่าวคือ รูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิตและโลกุตตรกุศลจิต เพราะในขณะที่บุคคลนั้นเริ่มเจริญสมถะก็ดี หรือเจริญวิปัสสนาก็ดี ตราบใดที่รูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต หรือโลกุตตรกุศลจิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ยังไม่เกิดขึ้น มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นจากการเจริญกรรมฐานนั้น ๆ ในเบื้องต้น ก็จะเกิดติดต่อกันเรื่อยไป ต่อเมื่อการเจริญกรรมฐานนั้น มีความก้าวหน้าโดยลำดับ จนถึงอัปปนาสมาธิแล้ว เมื่อนั้นแหละ จึงจะเปลี่ยนสภาพจากมหากุศลจิตไปเป็นรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต หรือโลกุตตรจิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามแต่กรรมฐานที่เจริญนั้น หรือในขณะที่เจริญอภิญญากุศลจิตให้เกิดขึ้นนั้น ก็ต้องมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นก่อนเสมอ ตลอดถึงการเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี สำหรับปุถุชนและพระเสกขบุคคลนั้น ก็ต้องมีมหากุศลจิตเกิดขึ้นก่อนเช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงกล่าวว่า “มหากุศลจิตนี้ เป็นจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข ทั้งยังเป็นบาทเบื้องต้นแห่งฌาน อภิญญา สมาบัติ และมรรค ผล อีกด้วย”

มหาวิปากจิตนั้น เป็นจิตที่เป็นผลของมหากุศลจิตนั่นเอง เพราะเมื่อว่าโดยสภาวะแล้วเหมือนกันทุกประการ แต่เป็นจิตที่มีสภาพเป็นวิบาก คือ เป็นผลอันสุกแล้ว ไม่ต้องขวนขวายให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะถ้ามหากุศลจิตมีมาก่อนแล้ว มหาวิปากจิตที่เป็นผลนี้ ย่อมต้องมีแน่นอน โดยฐานะเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ตทาลัมพนจิตและจุติจิต ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ ที่จะพึงเกิดขึ้นได้ อนึ่ง มหาวิปากจิตนี้ เป็นจิตที่รับรู้กามอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น ได้แก่ รับสภาพของกามบุคคลก็ดี กามภพก็ดี หรือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั่วไปก็ดี แต่ไม่สามารถรับมหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์ และบัญญัติอารมณ์ได้

ส่วนมหากิริยาจิตนั้น เป็นจิตของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น แต่มีสภาพและความเป็นไปคล้ายกับมหากุศลจิต กล่าวคือ ทั้งสภาวะที่เกิดขึ้นก็ดี การรับรู้อารมณ์ก็ดี การปรารภเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นก็ดี การทำหน้าที่ก็ดี คล้ายกันกับมหากุศลจิตทุกประการ ต่างกันแต่สภาพของบุคคลที่จิตนั้นเกิดขึ้น คือ มหากิริยาจิตนั้นเกิดขึ้นกับพระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงโดยเด็ดขาดแล้ว ฉะนั้น สภาพความรู้สึกของมหากิริยาจิตที่เกิดขึ้นตอบสนองต่ออารมณ์นั้นก็ดี ประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์ก็ดี ย่อมมีความแตกต่างจากมหากุศลจิตบ้าง ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยโดยเฉพาะมหากิริยาญาณสัปยุตตจิต ๔ นั้น สามารถรับรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ตามสมควรแก่สมรรถภาพของพระอรหันต์นั้น ๆ

ในบรรดากามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวงนี้ มหากุศลจิตจัดเป็นภาเวตัพพธรรม หมายถึง ธรรมที่ควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในสันดานของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ส่วนมหากิริยาจิตนั้นเป็นภาเวตัพพธรรมของพระอรหันต์ มหาวิปากจิต จัดเป็นปริญญาตัพพธรรม หมายถึง ธรรมที่ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนี้มีขึ้นได้ก็เพราะมีมหากุศลจิตเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้นนั่นเอง จึงเป็นแต่สภาพวิบากที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเท่านั้น โดยไม่ต้องขวนขวายทำให้มีขึ้นแต่อย่างใด เมื่อบุคคลผู้มีปัญญากำหนดรู้สภาพของกามาวจรโสภณจิตโดยทำนองนี้แล้ว ย่อมรู้ได้ว่า จิตประเภทไหนควรทำให้มีให้เกิดขึ้นในสันดาน และจิตประเภทไหนควรวางใจกำหนดรู้สภาวะตามที่เป็นจริงซึ่งได้เกิดมีขึ้นแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้ทำการกำหนดรู้อย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการพากเพียรพยายามเจริญมหากุศลจิตที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรพยายามประคับประคองรักษากุศลจิตที่เคยเกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญพอกพูนยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมจะเป็นผู้ที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย อันจะเป็นปัจจัยนำให้ถึงโลกุตตรกุศลคือมรรคจิตต่อไป

อนึ่ง ในขณะที่ได้รับสภาพของมหาวิปากจิตอยู่นั้น ก็ไม่หลงระเริงอยู่ในสภาพของอิฏฐารมณ์ที่รับรู้อยู่ ย่อมสามารถพิจารณาเห็นคุณค่าของมหาวิปากจิตที่จะใช้เป็นต้นทุนบุญในการสร้างกุศลความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะได้กำหนดพิจารณาเห็นว่า มหากุศลจิตนี้ ย่อมส่งผลเป็นอิฏฐารมณ์ อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจอย่างนี้ ถ้าบุคคลใดไม่ได้สั่งสมเหตุ คือ มหากุศลจิตไว้ บุคคลนั้น ก็ไม่สามารถรับรู้รสชาติแห่งอิฏฐารมณ์อย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น มหากุศลนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำโดยแท้ เพราะเป็นมิตรที่ดีงามในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ย่อมนำบุคคลไปสู่สุคติภูมิ ให้ได้เสวยความเป็นมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ นอกจากนี้ ยังเป็นพลวปัจจัยหนุนส่งให้ได้รับนิพพานสมบัติในอนาคตต่อไปข้างหน้าอีกด้วย ถ้าหากว่า บุคคลนั้น ยังมีใจตั้งมั่นอยู่ในหนทางแห่งมหากุศลจิตนี้อย่างสม่ำเสมอเรื่อยไป

จบกามาวจรโสภณจิต

และ

จบกามาวจรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |