| |
สรุปความเรื่องอธิโมกขเจตสิก   |  

อธิโมกขเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดแห่งอัญญสมานเจตสิก ๑๓ เป็น ปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั่วไปทุกประเภท แต่ประกอบไม่ได้ทั้งหมด ประกอบได้เป็นบางดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้

อธิโมกขเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับจิตดวงใดได้แล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีอธิโมกขเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ และเมื่อระบุไว้ว่า ไม่ประกอบกับจิตดวงใด เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมไม่มีอธิโมกขเจตสิกประกอบร่วมด้วยโดยประการทั้งปวง

อธิโมกขเจตสิกประกอบกับจิตได้ ๑๑๑ ดวง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๑ [เว้นโมห มูลจิตดวงที่ ๑ คือ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต] สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ อเหตุกกิริยาจิต ๓ และโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง

ส่วนจิตที่อธิโมกขเจตสิกไม่ประกอบร่วมด้วยนั้น มี ๑๑ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิตดวงที่ ๑ คือ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต และ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐

เหตุที่อธิโมกขเจตสิกไม่ประกอบกับทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ นั้น เพราะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยของตนที่ประชุมพร้อมกัน ดังกล่าวแล้วในเจตสิกดวงก่อน ๆ เมื่อเหตุปัจจัยครบ ๔ ประการ แต่ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ แต่ละดวง ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีอธิโมกขเจตสิกมาทำการตัดสินอารมณ์ เพราะถึงแม้อธิโมกขเจตสิกจะพยายามตัดสินอารมณ์สักเพียงใด ถ้าเหตุปัจจัยไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการดังกล่าวแล้ว ทวิปัญจวิญญาณจิตแต่ละดวงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้อยู่นั่นเอง

เหตุที่อธิโมกขเจตสิกไม่ประกอบกับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ คือ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิตนั้น เพราะลักษณะของวิจิกิจฉาเจตสิก ซึ่งประกอบกับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ นั้น มีสภาพที่ตรงกันข้ามกับอธิโมกขเจตสิกโดยสิ้นเชิง คือ วิจิกิจฉาเจตสิก มีลักษณะที่ลังเลสงสัย ตัดสินไม่เด็ดขาด ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนมีอาการรวนเร จับอารมณ์ไม่มั่น ยากที่จะตัดสินใจได้ ส่วนอธิโมกขเจตสิกนั้นมีลักษณะที่เด็ดเดี่ยว ตัดสินได้เด็ดขาด เมื่อตัดสินจะรับอารมณ์อะไรหรือทำอะไรลงไปแล้ว ย่อมปราศจากความรวนเรลังเลใจ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม ย่อมทำการตัดสินใจรับอารมณ์นั้นหรือกระทำกิจการงานที่มุ่งหมายไว้ให้สำเร็จลุล่วงไป

อธิโมกขเจตสิก ย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ทั้งหมด ๕๐ ดวง [เว้นอธิโมกข์และวิจิกิจฉา] คือ

เมื่อประกอบกับอกุศลจิต ๑๑ แต่ละดวง [เว้นวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต] ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นอธิโมกข์] และอกุศลเจตสิก ๑๓ [เว้นวิจิกิจฉา] ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับอเหตุกจิต ๘ ดวง ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ อเหตุกกิริยาจิต ๓ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นอธิโมกข์และฉันทะ] ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นอธิโมกข์] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อจิตแต่ละดวงเหล่านั้นเกิดขึ้น พร้อมด้วยเจตสิกเหล่าอื่น อธิโมกขเจตสิกย่อมเกิดพร้อมด้วยจิตเหล่านั้นด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |