| |
วิเสสลักษณะ   |  

วิเสสลักษณะ หมายถึง ลักษณะพิเศษโดยเฉพาะประจำตัวของปรมัตถธรรมแต่ละอย่างที่ไม่เหมือนกัน เรียกว่า สภาวลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะเป็นต้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ แปลว่า คุณสมบัติพิเศษ ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น ของปรมัตถธรรม อนึ่ง การที่ท่านนับจำนวนสภาวะของปรมัตถธรรมทั้งปวงได้เพียง ๗๒ ประการ คือ จิตทั้งหมดนับเป็น ๑ เจตสิก ๕๒ และนิปผันนรูป ๑๘ นิพพาน ๑ รวมเป็น ๗๒ ประการนั้น เพราะแต่ละอย่าง ต่างมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะของตน ๆ คือ

๑. ลักษณะ หมายถึง ความหมายหรือเอกลักษณ์ ที่เป็นไปโดยเฉพาะ ๆ ของปรมัตถธรรมแต่ละอย่าง เช่น จิตมีลักษณะรู้อารมณ์ เจตสิกมีลักษณะอาศัยจิตเกิด รูปมีลักษณะเสื่อมสิ้นสลายไปเพราะวิโรธิปัจจัย นิพพานมีลักษณะสงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ เป็นต้น

๒. รส หมายถึง หน้าที่หรือความสำเร็จที่มีอยู่ประจำตนเองของปรมัตถธรรมแต่ละอย่าง แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ

ก. กิจจรส หมายถึง หน้าที่หรือความสำเร็จที่มีอยู่ประจำตนเองของปรมัตถธรรมทั้งหลาย เช่น จิตมีหน้าที่เป็นประธานในการรับรู้อารมณ์ของสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เป็นต้น

ข. สัมปัตติรส หมายถึง คุณสมบัติที่มีอยู่ประจำของปรมัตถธรรมเหล่านั้น เช่น รสของพระนิพพาน มีสภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นวิมุตติรส เป็นต้น

๓. ปัจจุปปัฏฐาน หมายถึง ผลหรืออาการที่ปรากฏของปรมัตถธรรมที่ปรากฏในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย คือ บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยรอบคอบและถูกต้อง ย่อมสามารถพิจารณาเห็นได้ มี ๒ อย่าง คือ

ก. ผลปัจจุปปัฏฐาน หมายถึง ผลที่ได้รับจากการงานที่ทำ [กิจจรส] เช่น เตโชธาตุ มีหน้าที่ทำให้สุกและทำให้ละเอียดอ่อน ผลจากการงานนี้ ก็คือ สุกและละเอียดอ่อนนั่นเอง

ข. อุปัฏฐานาการปัจจุปปัฏฐาน หมายถึง อาการที่ปรากฏขึ้นอันเกิดจากคุณสมบัติ [สัมปัตติรส] ของปรมัตถธรรม เช่น จิต มีการเกิดดับสืบต่อกันไปไม่ขาดสายระหว่างดวงแรกกับดวงหลัง คล้ายกับว่าไม่มีการเกิดดับ เป็นอาการปรากฏของจิต อุปมาเหมือนหลอดไฟฟ้าที่เปิดทิ้งไว้ เราจะมองเห็นว่า ไฟฟ้านี้ติดอยู่ตลอดเวลา แท้ที่จริงแล้ว ไฟนั้นมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด การเกิดดับของจิตก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ต่อเมื่อผู้มีปัญญาพิจารณาดูแล้ว ย่อมจะรู้ได้ว่า จิตเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อดวงเก่าดับไปแล้ว ดวงใหม่ก็เกิดขึ้นมาแทนที่ เป็นเช่นนี้ตลอดเวลา ทำให้อาการปรากฏของจิตนั้น เหมือนหนึ่งว่า เป็นดวงเดียว เท่านั้น

๔. ปทัฏฐาน หมายถึง ธรรมที่เป็นเหตุให้ปรมัตถธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุที่ใกล้ชิดที่สุด เมื่อว่าโดยรวมแล้ว เหตุที่ทำให้ปรมัตถธรรมเกิดได้นั้น มี ๒ อย่าง คือ เหตุไกล อย่างหนึ่ง เหตุใกล้ อย่างหนึ่ง เช่น เหตุที่ทำให้จิตเกิดขึ้นได้นั้นมี ๔ อย่าง คือ อดีตกรรม อารมณ์ เจตสิก และวัตถุ

เหตุไกล ได้แก่ อดีตกรรม อารมณ์

เหตุใกล้ ได้แก่ เจตสิก วัตถุรูป [ปทัฏฐาน หมายเอาเฉพาะเหตุใกล้นี้เท่านั้น]

ในลักขณาทิจตุกกะทั้ง ๔ นี้ ปรมัตถธรรม ๓ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป มีสภาวะครบทั้ง ๔ ประการ ส่วนพระนิพพานนั้น มีเพียงสภาวะ ๓ อย่าง คือ ลักษณะ รส ปัจจุปปัฏฐาน เท่านั้น ไม่มีปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด เพราะพระนิพพานนั้นเป็นอเหตุกะไม่มีเหตุ เป็นอัปปัจจยะ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอสังขตะ ไม่ถูกปรุงแต่ง และไม่ปรุงแต่งใคร และไม่มีการเกิด การดับ ฉะนั้น พระนิพพานจึงไม่มีเหตุใกล้ให้เกิด

ส่วนบัญญัติธรรมนั้นไม่มีวิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะแต่ประการใด เพราะบัญญัตินั้นเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติ ที่ชาวโลกสมมติบัญญัติขึ้น เพื่อหมายรู้ความหมายร่วมกัน เฉพาะหมู่เฉพาะเหล่าเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เหมือนกัน แต่เรียกไม่เหมือนกัน ตามแต่ภาษาท้องถิ่นที่สมมติขึ้น หรือบางอย่างออกเสียงเหมือนกัน แต่หมายถึงสิ่งของที่ต่างกัน เป็นต้น

ถ้าผู้ศึกษาได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจในลักขณาทิจตุกกะของปรมัตถธรรมได้เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมสามารถที่จะเข้าใจสภาพของปรมัตถธรรมเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |