| |
บทสรุปเรื่องสัททรูป   |  

สัททรูปหรือสัททารมณ์ อันได้แก่ เสียงต่าง ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายเปล่งออกมาและเสียงทั้งหมดที่สัตว์ไม่ได้เปล่งออกมา ย่อมได้ชื่อว่า สัททารมณ์ เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งมีสภาพที่สามารถกระทบกับโสตปสาทได้เป็นคุณลักษณะ มีการเป็นอารมณ์แก่โสตวิญญาณจิต อันเป็นหน้าที่ที่สำเร็จมาจากคุณสมบัติเฉพาะตน มีความเป็นอารมณ์ให้แก่โสตวิญญาณนั่นเองเป็นผลปรากฏ ที่บัณฑิตสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ด้วยปัญญา และเป็นรูปธรรมที่จะปรากฏเกิดขึ้นได้ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือ เป็นฐานรองรับสำคัญ จะเกิดขึ้นโดยลำพังตนเอง หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากมหาภูตรูปเป็นเครื่องรองรับนั้น ย่อมไม่มี

สัททรูปหรือสัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ นั้น ย่อมเกิดมาจากสมุฏฐาน ๒ ประการ คือ จิตและอุตุ เพราะฉะนั้น จึงจำแนกเป็น ๒ ประเภทตามสมุฏฐานที่เป็นแดนให้เกิดขึ้น กล่าวคือ

๑. จิตตชสัททรูป คือ สัททรูปที่เกิดจากจิต ได้แก่ เสียงที่ออกจากปากของ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ เสียงพูด เสียงร้อง เสียงบ่นเพ้อ เสียงถอนหายใจ เป็นต้น หรือเสียงอย่างอื่น เช่น เสียงลมหายใจ เสียงการเรอ การจาม การไอ การผ่ายลม การเบ่ง การลั่นของอวัยวะ เป็นต้น ที่ดังออกมาผิดปกติ โดยมีเจตนาทำให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นเสียงที่ดังออกมาด้วยจิตที่เป็นกุศล ย่อมไพเราะ กังวาล มีสาระ โปร่งใส นุ่มนวล ถ้าเป็นเสียงที่ดังออกมาด้วยจิตที่เป็นอกุศล ย่อมมีสภาพหยาบกระด้าง มีมารยาหรือเลศนัยแอบแฝง หรือไม่มีสาระ เป็นต้น

๒. อุตุชสัททรูป คือ สัททรูปที่เกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ เสียงที่ออกจากอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย ที่ไม่ใช่เป็นการเปล่งวาจา เช่น เสียงลมหายใจ เสียงการเรอ การจาม การไอ การผ่ายลม การเบ่ง การลั่นของอวัยวะ เป็นต้น ที่ดังออกมาตามปกติโดยไม่มีเจตนาทำให้เกิดขึ้น และเสียงของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายที่นอกจากเสียงที่ออกมาจากอวัยวะของสัตว์ดังกล่าวแล้ว ได้แก่ เสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า เสียงน้ำไหล เสียงลมพัด เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |