| |
การประหาณวิจิกิจฉาโดยตทังคปหาน ๖ ประการ   |  

การที่บุคคลจะสามารถตัดความสงสัยในพระรัตนตรัยและความสงสัยในแนวทางแห่งการดำเนินไปสู่ความดีงามและความเจริญเป็นต้นให้ออกไปจากจิตใจในชีวิตประจำวันไม่ให้เกิดขึ้นมารบกวนได้นั้น ย่อมสามารถประหาณได้ด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. พะหุสสุตะตา เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก [คงแก่เรียน] หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษามีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวางและถูกต้องดีแล้ว การที่เคยสงสัยในสิ่งนั้น ๆ ย่อมสามารถบรรเทาเบาบางลงไปได้ เช่น ได้ศึกษาเรียนรู้ในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ได้รู้ถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กฎแห่งกรรม เป็นต้นตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้ความสงสัยในสิ่งเหล่านี้คลายหายไปหรือบรรเทาเบาบางลงได้

๒. ปะริปุจฉะกะตา เป็นผู้หมั่นสอบสวนทวนถามผู้รู้เสมอ หมายความว่า เมื่อบุคคลหมั่นสอบถามท่านผู้รู้ทั้งหลาย ในสิ่งที่ตนเองเกิดความสงสัยไม่มั่นใจนั้น โดยไม่เก็บกดไว้ในใจแต่เพียงผู้เดียว ย่อมทำให้ได้คำตอบได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเหตุโดยผลของสิ่งนั้น ๆ ตามความเป็นจริง ทำให้ความสงสัยในเรื่องนั้น ๆ สามารถบรรเทาเบาบางหรือจางหายไปได้

๓. วินะเย ปะกะตัญญุตา เป็นผู้รอบรู้ชำนาญและเคร่งครัดในระเบียบวินัย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้ได้ศึกษาในระเบียบวินัยต่าง ๆ ทั้งระเบียบวินัยของตนเอง สังคม และประเทศชาติอย่างดีแล้ว ย่อมสามารถประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่เกิดความรวนเรลังเลสงสัย ทำให้มีความมั่นใจในตนเอง ไม่ต้องกลัวว่า จะทำผิดวินัย ต้องถูกโทษทัณฑ์ต่าง ๆ และเมื่อบุคคลประพฤติตนเป็นคนมีระเบียบวินัยอย่างถูกต้องสม่ำเสมอแล้ว ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในชีวิต และสามารถแสวงหาความรู้ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป อันเป็นการตัดต้นตอของความสงสัยให้หมดไปได้

๔. อะธิโมกขะพะหุละตา เต็มไปด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด หมายความว่า บุคคลที่มีการตัดสินใจเด็ดขาดทำอะไรทำจริงโดยไม่รวนเรลังเลใจนั้น ปัญหาอุปสรรคหรือการงานต่าง ๆ ย่อมไม่ทับถมคั่งค้าง ย่อมจะมีความปลอดโปร่งโล่งใจ หายจากความลังเลสงสัย แม้จะมีการตัดสินใจทำในทางที่ผิดพลาดบ้าง แต่เมื่อเกิดจิตสำนึกรู้สึกตัวว่าผิดพลาด ก็ยังหาทางแก้ไขได้ หรือสำนึกตนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีอาการคลุมเครือแต่อย่างใด

๕. กัล๎ยาณะมิตตะตา ชอบคบหาสมาคมกับมิตรที่ดีงาม หมายความว่า เมื่อบุคคลไม่คบหาสมาคมกับมิตรชั่ว เลือกคบแต่กัลยาณมิตรเท่านั้น ย่อมทำให้ได้พูด ได้ทำ ได้คิดในทางที่ดีงาม ได้เรียนรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เป็นต้น ย่อมไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามมาภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ปลอดโปร่งโล่งใจ คลายจากความลังเลสงสัยในหนทางชีวิตของตนเองได้

๖. สัปปายะกะถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นสัปปายะคลายจากความสงสัย หมาย ความว่า เมื่อบุคคลได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้ข้อมูลที่ตรงกับสิ่งที่ตนเองสงสัย เช่น พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กฎแห่งกรรม เป็นต้น อย่างถูกต้องแล้ว ย่อมคลายจากความสงสัยในสิ่งนั้นได้ ทำให้มีความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นยึดถือปฏิบัติได้อย่างเต็มที่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |