| |
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗   |  

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่สามารถประกอบกับจิตได้ทุกดวง เพราะไม่ว่า จิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา ต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วยเสมอ ไม่มียกเว้น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สาธาระณะโต สัพเพสุ จิตเตสุ ปะยุชชันตีติ สัพพะจิตตะสาธาระณานิ” แปลความว่า เจตสิกเหล่าใดประกอบได้ทั่วไปในจิตทั้งปวง เพราะเหตุนั้น เจตสิกเหล่านั้น จึงชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณะ ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ นี้ เป็นเจตสิกที่เป็นบาทฐานให้จิตได้รับรู้อารมณ์ ถ้าขาดเจตสิกเหล่านี้แม้ดวงใดดวงหนึ่งไป จิตย่อมไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้เลย กล่าวคือ ผัสสเจตสิก ทำให้อารมณ์ ทวารและวิญญาณกระทบกัน เวทนาเจตสิก ทำหน้าที่เสวยรสชาติของอารมณ์เพื่อให้จิตได้รับรู้รสชาติของอารมณ์ สัญญาเจตสิก ทำหน้าที่จำสัญลักษณ์ของอารมณ์ไว้และคอยป้อนข้อมูลของอารมณ์ให้แก่จิตเสมอ เจตนาเจตสิก เป็นผู้จัดแจงสัมปยุตตธรรมอื่น ๆ ไว้ในอารมณ์ เพื่อมิให้สัมปยุตตธรรมรวนเรในอารมณ์ เอกัคคตาเจตสิก ทำให้สัมปยุตตธรรมมีความสงบอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น ชีวิตินทรียเจตสิก ทำหน้าที่อนุบาลหล่อเลี้ยงสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้คงอยู่จนครบกำหนดอายุของตน และมนสิการเจตสิก ย่อมทำหน้าที่ชักนำให้สัมปยุตตธรรมมุ่งสู่อารมณ์โดยความเป็นเอกภาพ ไม่ให้เกิดความสับสนปนเปในระหว่างสัมปยุตตธรรมด้วยกัน

สรุปแล้ว สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ นี้ย่อมมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการรับอารมณ์ของสัมปยุตตธรรมทั้งหลายด้วยกันทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ จึงต้องประกอบกับจิตทุกดวง แม้แต่จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด ก็ต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง ๗ ดวงนี้ร่วมอยู่ เช่น ทวิปัญจ-วิญญาณจิต ๑๐ มีเจตสิกประกอบเพียง ๗ ดวงเท่านั้น ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ แม้เพียงการทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ที่มาสู่คลองแห่งจักขุ [ในรัศมีที่สามารถมองเห็นได้] เป็นต้น ซึ่งปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ส่งมาให้เท่านั้นก็ตาม ย่อมต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเหล่านี้ประกอบร่วมด้วย เพื่อทำการตอบสนองต่ออารมณ์ในหน้าที่ต่าง ๆ กัน แต่เป็นไปในความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ การรับรู้อารมณ์ เปรียบเหมือนองค์กรที่ประกอบกิจการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิกอยู่หลายคน และมีหน้าที่หลายแผนก และได้จัดแบ่งหน้าที่ให้สมาชิกแต่ละคนทำตามความถนัดเจนจัดและชำนาญ เมื่อมีกิจการงานหลักขององค์กรเกิดขึ้น สมาชิกแต่ละคนย่อมขวนขวายในการทำหน้าที่ของตน ๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย และเมื่อสำเร็จมาเป็นผลงานแล้ว ก็คือ ความสำเร็จแห่งกิจการงานขององค์กรนั่นเอง ข้อนี้ฉันใด จิตและเจตสิกทั้งหลาย ก็ฉันนั้น จิตเปรียบเหมือนองค์กร เจตสิกทั้งหลายที่ประกอบกับจิตนั้น เปรียบเหมือนสมาชิกขององค์กร ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ของตน ๆ เมื่อสำเร็จเป็นผลงานแล้ว ก็คือ การรับรู้อารมณ์ ครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |