| |
ลักขณรูป ๔   |  

ความหมายของลักขณรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๑๖ ได้แสดงความหมายของลักขณรูปไว้ดังต่อไปนี้

ลักขณรูป คือ รูปที่มีกาลเวลาเป็นเครื่องกำหนดวินิจฉัยได้ หมายความว่า รูปที่เป็นเหตุแห่งการกำหนดวินิจฉัยสังขตธรรม หมายถึง รูปที่แสดงกาลเวลา บอกให้รู้ถึงอาการปรุงแต่งของสังขตธรรม ซึ่งได้แก่ ลักขณรูป ๔ อย่าง คือ อุปจยรูป สันตติรูป ชรตารูป และอนิจจตารูป บัณฑิตย่อมสามารถกำหนดวินิจฉัยได้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นสังขตะ ก็ด้วยการอาศัยลักขณรูป ๔ ประการนี้

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของลักขณรูป

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๑๗ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของลักขณรูปไว้ดังต่อไปนี้

ลักขณรูป หมายถึง รูปที่บัณฑิตใช้กำหนดวินิจฉัยว่าเป็นสังขตธรรมได้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ลกฺขียนฺติ วินิจฺฉียนฺติ ธมฺมา อิเม สงฺขตาติ เอเตนาติ = ลกฺขณํ” แปลความว่า ธรรมทั้งหลายอันบัณฑิตพึงกำหนดวินิจฉัยได้ว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นสังขตะ ด้วยการอาศัยรูปเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการวินิจฉัยสังขตธรรมได้นั้น จึงชื่อว่า ลักขณะ

ธรรม ๒ อย่าง

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงสภาพธรรมไว้ ๒ อย่างรุ.๔๑๘ ดังต่อไปนี้

๑. สังขตธรรม หมายถึง ธรรมที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น รูปธรรม ย่อมมีกรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นผู้ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ส่วนนามธรรม คือ จิตและเจตสิกนั้น ย่อมมีอดีตกรรม อารมณ์ วัตถุ และทวาร เป็นต้น เป็นผู้ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สังขตธรรม จึงได้แก่ จิต เจตสิก และ รูป

๒. อสังขตธรรม หมายถึง ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยใด ๆ ได้แก่ นิพพาน [ส่วนบัญญัติทั้งหลาย ก็สงเคราะห์เป็นอสังขตธรรมด้วยโดยอนุโลม เพราะเป็นธรรมที่ไม่มีสภาวะเป็นของตนโดยแท้จริง ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นเพียงสิ่งที่สมมติขึ้นเพื่อใช้สื่อสารสัมพันธ์กันและรู้ความหมายร่วมกันในสังคมเท่านั้น]

อนึ่ง ในบรรดาธรรมที่ถูกปรุงแต่งโดยปัจจัยทั้งหลาย ย่อมมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ซึ่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนี้ เมื่อจะเปรียบเทียบกับสภาวะความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็ได้แก่ ชาติ ชรา และมรณะ แต่สำหรับลักขณรูป คือ รูปที่บอกกำหนดเวลาในการปรุงแต่งแห่งสังขตธรรมนี้ ได้จำแนกให้พิสดารออกไปเป็น ๔ ประการ ได้แก่ อุปจยะ [ความก่อตัว/ความเกิด] สันตติ [ความสืบต่อ] [ทั้ง ๒ ประการนี้ จัดเป็น ชาติ] ชรตา [ความตั้งอยู่] อนิจจตา [ดับไป]





เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |