| |
รูปฌาณกุศลจิต   |  

รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาโดยอาศัยบัญญัติของรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จิตที่เริ่มเพ่งจับบัญญัติอารมณ์ในตอนแรกนั้น ย่อมเป็นมหากุศลจิต สมาธิที่ประกอบกับมหากุศลจิตนั้นยังอยู่ในขั้นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิตามลำดับ เมื่อเจริญภาวนาเรื่อยไปจนสมาธินั้นแนบแน่นในอารมณ์เดียวเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จิตจึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน พร้อมกับการประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของตนโดยวิกขัมภนปหาน เป็นกุศลจิตชนิดที่จะส่งผลให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในภูมิต่าง ๆได้ตามสมควรแก่ฌานจิตนั้น ๆ กล่าวคือ ปฐมฌานกุศลจิต ย่อมส่งผลเป็นปฐมฌานวิปากจิต ให้ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ ๓ ดังนี้เป็นต้น

รูปฌานกุศลจิต มี ๕ ดวง คือ

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๑

วิตักกวิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ปฐมัชฌานกุสลจิตตัง

ปฐมฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับแรกของติเหตุกปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล ๓ นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา โดยการกำหนดเพ่งอารมณ์ ๒๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น จนจิตแนบแน่นในอารมณ์โดยลำดับ ถึงอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้ง ๕ ปรากฏเด่นชัดและมีกำลังมากสามารถข่มกิเลสนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะและวิจิกิจฉาให้สงบราบคาบลงได้โดยวิกขัมภนปหาน

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๒

วิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ทุติยัชฌานกุสลจิตตัง

ทุติยฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๒ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา โดยกำหนดเพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้ปฐมฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกำหนดเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดละวิตกซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในปฐมฌานจิตนั้น ซึ่งจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อละวิตกได้แล้ว ทุติยฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๓

ปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ตติยัชฌานกุสลจิตตัง

ตติยฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๓ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนาโดยกำหนดเพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้ทุติยฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกำหนดเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดละวิจารซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในทุติยฌานจิตนั้น ซึ่งจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่นาน เมื่อละวิจารได้แล้ว ตติยฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๔

สุขเอกัคคตาสหิตัง จตุตถัชฌานกุสลจิตตัง

จตุตถฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา

รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๔ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดเพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้ตติยฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกำหนดเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดละปีติซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในตติยฌานนั้น ซึ่งจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อละปีติได้แล้ว จตุตถฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา

รูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๕

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง ปัญจมัชฌานกุสลจิตตัง

ปัญจมฌานกุศลจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๕ ของบุคคลนั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนาโดยการกำหนดเพ่งอารมณ์ ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ [สำหรับมัชฌัตตสัตวบัญญัตินี้เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ของอัปปมัญญา ๓ อย่างข้างต้น อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นมัชฌัตตสัตวบัญญัติซึ่งเป็นอารมณ์ของอุเบกขาอัปปมัญญา] ตามสมควรแก่จริตของบุคคลนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้น หลังจากได้จตุตถฌานกุศลจิตและฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว จึงกำหนดเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดเปลี่ยนสภาพของสุขเวทนาให้เป็นอุเบกขาเวทนา เนื่องจากสุขเวทนาหรือโสมนัสสเวทนานั้นมีสภาพใกล้เคียงกับปีติและมักตกไปตามสภาพของปีติเสมอ ทำให้ฌานจิตเลื่อนลงไปสู่ปีติในตติยฌานได้ง่าย ซึ่งจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อเปลี่ยนสุขเวทนาให้เป็นอุเบกขาเวทนาได้แล้ว ปัญจมฌานกุศลจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อนึ่ง รูปฌาน ๕ เหล่านี้ เกิดขึ้นในขณะที่รูปฌานลาภีบุคคล ฝึกฝนให้ชำนาญเป็นวสีทั้ง ๕ แล้ว สามารถใช้กำหนดเข้าฌานสมาบัติได้ ตามขั้นฌานที่ตนเองได้ เช่น ผู้ได้ปฐมฌาน ย่อมสามารถเข้าได้เฉพาะปฐมฌานเท่านั้น ผู้ได้ถึงทุติยฌาน สามารถเข้าได้ตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงทุติยฌาน ดังนี้เป็นต้น

สรุปความว่า รูปฌานกุศลจิตนี้ ย่อมเกิดขึ้นในฐานะ ๔ ประการ คือ

๑. ในขณะที่พระโยคีบุคคลเจริญสมถภาวนาให้ฌานจิตนั้น ๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า อาทิกัมมิกฌาน

๒. ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลนั้นกำหนดเข้าสมาบัติ เรียกว่า ฌานสมาบัติ

๓. ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลนั้นฝึกฝนทำให้เกิดอภิญญา เรียกว่า อภิญญาสมาบัติ [เฉพาะปัญจมฌานจิตเท่านั้น]

๔. ในขณะที่ฌานลาภีบุคคลนั้นเข้าฌานสมาบัติ เพื่อใช้เป็นบาทในการเจริญวิปัสสนา เรียกว่า ปาทกฌาน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |