| |
มหาภูตรูป ๔   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๘ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของมหาภูตรูปไว้ดังนี้

มหาภูตรูป หมายถึง รูปที่มีสภาวะลักษณะประจำตัวของตนโดยเฉพาะ หรือรูปที่มีสัณฐานใหญ่โตหรือปรากฏชัดเจน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “มหนฺตานิ หุตฺวา ภูตานิ ปาตุภูตานีติ มหาภูตานิ” แปลความว่า รูปเหล่าใด เมื่อว่าโดยสัณฐานและโดยสภาพแล้ว เป็นของใหญ่และปรากฏชัดเจน เพราะฉะนั้น รูปเหล่านั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป มี ๔ อย่างได้แก่ ปถวี อาโป เตโช วาโย

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ตามความหมายข้างต้นนี้ รูปที่ชื่อว่า มหาภูตรูป นั้น มีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. เป็นรูปที่ใหญ่ หมายความว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอุปาทายรูปทั้ง ๒๔ แล้ว มหาภูตรูป ๔ ย่อมเป็นรูปที่ใหญ่โตกว่า โดยสัณฐาน คือ รูปร่างและลักษณะอาการ กล่าวคือ บรรดารูปร่างของมนุษย์หรือสัตว์ ตลอดถึงรูปร่างของสรรพสิ่งทั้งปวงที่ปรากฏอยู่ในโลกนั้น ธาตุดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมเป็นองค์ประกอบหลักของรูปเหล่านั้น ส่วนอุปาทายรูปทั้งหลายย่อมเป็นเพียงองค์ประกอบย่อยที่ซึมซับอยู่ในมหาภูตรูปอันเป็นองค์ประกอบหลักนั้นอีกทีหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า เป็นรูปที่ใหญ่

๒. เป็นรูปที่ปรากฏชัดเจน หมายความว่า ในรูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลายก็ดี รูปของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายก็ดี ย่อมมีธาตุทั้ง ๔ เป็นองค์ประกอบหลัก และเมื่อสัมผัสถูกต้องย่อมสามารถรับรู้ถึงสภาวะของมหาภูตรูปได้เด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะมหาภูตรูป ๓ เว้นอาโปธาตุ กล่าวคือ เมื่อสัมผัสถูกต้องด้วยกายแล้ว ย่อมรู้สึกถึงสภาวะแข็งหรืออ่อน อันเป็นสภาวะลักษณะของธาตุดิน สภาวะร้อนหรือเย็น อันเป็นสภาวะลักษณะของธาตุไฟ และสภาวะหย่อนหรือตึง ซึ่งเป็นสภาวะลักษณะของธาตุลม ส่วนอาโปธาตุคือธาตุน้ำนั้น แม้จะไม่สามารถสัมผัสถูกต้องด้วยกายได้โดยสภาวะก็ตาม [เป็นสภาวะที่รู้ได้ด้วยใจ] แต่ก็เป็นธาตุที่ทำการเกาะกุมธาตุทั้ง ๓ นั้นให้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ได้ โดยไม่กระจัดกระจาย และในสิ่งที่มีธาตุน้ำเป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมากกว่าธาตุอื่น ทำให้ธาตุอื่น ๆ เอิบอาบและไหลไปได้ เราก็เรียกสิ่งนั้นว่า น้ำ เพราะฉะนั้น มหาภูตรูป จึงได้ชื่อว่า เป็นรูปที่ปรากฏชัดเจน

ตามที่กล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า ทุกเซลล์หรือทุกอณูปรมาณูแห่งร่างกายของสัตว์และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย [รวมทั้งลม อากาศ และแสงสว่างด้วย] ย่อมมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานหลักทั้งสิ้น ถ้าไม่มีมหาภูตรูปเป็นองค์ประกอบพื้นฐานหลักเสียแล้ว อุปาทายรูปทั้งหลายย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นได้ เช่น วัณณรูปคือสีต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นได้ ก็ต้องมีมหาภูตรูป ๔ เป็นพื้นฐานหรือเป็นตัวตนอยู่ด้วย จึงจะสามารถปรากฏออกมาว่า เป็นสีนั้นสีนี้ หรือสีของสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าไม่มีมหาภูตรูปเป็นพื้นฐานหลักอยู่ด้วยแล้ว สีต่าง ๆ ย่อมไม่สามารถจะปรากฏออกมาได้เลย แม้อุปาทายรูปอื่นก็เช่นเดียวกัน ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นพื้นฐานหลักด้วยกันทั้งสิ้น จึงจะปรากฏขึ้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |