ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๔ ได้อธิบายเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะไว้ ดังต่อไปนี้
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะ หมายถึง อาการยิ้ม อาการหัวเราะ ที่เกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยจิตเป็นปัจจัยให้เกิด จิตที่ทำให้การยิ้มการหัวเราะเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ จิต ๑๓ ดวง คือ โลภโสมนัสสสหคตจิต ๔ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔ มหากิริยาโสมนัสสสหคตจิต ๔ ในจิต ๑๓ ดวงนี้ ถ้าแยกโดยประเภทแห่งบุคคลแล้วได้ดังนี้
ปุถุชน ย่อมแสดงอาการยิ้มหรือหัวเราะได้ด้วยจิต ๘ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัสส สหคตจิต ๔ มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔
พระเสกขบุคคล ย่อมแสดงอาการยิ้มหรือหัวเราะได้ด้วยจิต ๖ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัสสสหคตจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๒ มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔
พระอเสกขบุคคล คือ พระอรหันต์ ย่อมแสดงอาการยิ้มหรือหัวเราะได้ด้วยจิต ๕ ดวง ได้แก่ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากิริยาโสมนัสสสหคตจิต ๔
อาการยิ้มแย้มของพระอรหันต์ที่ยิ้มด้วยหสิตุปปาทจิตนั้น อาศัยเหตุที่ได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์อันละเอียด ที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถรับรู้ได้ แล้วย่อมยิ้มด้วยหสิตุปปาทจิต แต่ถ้าประสบกับอนิฏฐารมณ์ที่เป็นอารมณ์อย่างหยาบ ที่บุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ได้ อาการยิ้มแย้มเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจแห่งมหากิริยาโสมนัสสสหคตจิต ๔
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะ หมายถึง ปฏิกิริยาของรูปที่เกิดจากอำนาจของชวนจิต คือ จิตที่ทำการเสพอารมณ์โดยความเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือกิริยาอัพยากตะของพระอรหันต์ ซึ่งเกิดด้วยอำนาจของโสมนัสสสหคตจิต คือ จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ๑๓ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัสสสหคตจิต ๔ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔ มหากิริยาโสมนัสสสหคตจิต ๔ เป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะ ๑๔ รูปเกิดขึ้น ตามสมควรของแต่ละกลาป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ [เว้นกายวิญญัติ] และวิการรูป ๓
อนึ่ง จิต ๑๓ ดวงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะนั้น ถ้าจำแนกโดยบุคคลแล้ว ได้ดังนี้
ปุถุชนทั้งหลาย ได้แก่ ทุคติบุคคล [อบายสัตว์ ๔] สุคติอเหตุกบุคคล [มนุษย์ไม่สมประกอบและเทวดาชั้นต่ำ] ทวิเหตุกบุคคล [มนุษย์และเทวดาระดับกลาง] และติเหตุกปุถุชน [มนุษย์และเทวดาระดับสูง รวมทั้งรูปพรหม ๑๐ ภูมิ เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕ อสัญญสัตตภูมิ ๑ เฉพาะที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิเท่านั้น] ย่อมทำการยิ้มหรือหัวเราะได้ด้วยจิต ๘ ดวง คือ โลภโสมนัสสสหคตจิต ๔ มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔
พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี [เฉพาะที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิเท่านั้น] ย่อมทำการยิ้มหรือหัวเราะได้ด้วยจิต ๖ ดวง คือ โลภโสมนัสทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๒ มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔
พระอเสกขบุคคลทั้งหลาย ได้แก่ พระอรหันต์ [เฉพาะที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิเท่านั้น] ย่อมทำการยิ้มหรือหัวเราะได้ด้วยจิต ๕ ดวง คือ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากิริยาโสมนัสสสหคตจิต ๔
อาการยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยิ้มด้วยหสิตุปปาทจิตนั้น อาศัยเหตุจากการที่ท่านได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์อันละเอียด ที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถรับรู้ได้ เช่น เห็นเปรตหรืออสุรกายหรือเทวดาชั้นต่ำที่กำลังเสวยความทุกข์ทรมานอยู่ เพราะผลแห่งอกุศลกรรมเก่าของตน เห็นบุคคลผู้กำลังกระทำอกุศลกรรมอยู่ แล้วจะได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นในอนาคต เห็นคนที่กำลังมีความสุขเพียบพร้อมด้วยสมบัติอยู่ แต่กำลังจะได้เสวยผลของอกุศลกรรมเก่าในอนาคตอันใกล้ เหล่านี้เป็นต้น ท่านย่อมแสดงอาการยิ้มแย้มด้วยหสิตุปปาทจิต แต่ถ้าท่านได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ที่เป็นอารมณ์อย่างหยาบ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ได้ เช่น เห็นบุคคลที่กำลังเสวยความทุกข์เพราะผลของอกุศลกรรมเก่า [ทั้งในอดีตภพและปัจจุบันภพ] เป็นต้น ซึ่งอาการยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายที่บุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ได้เช่นนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งมหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง
ปฏิกิริยาการหัวเราะของรูปที่เกิดจากจิตเหล่านี้ ย่อมมีสภาพของกลุ่มรูปเกิดขึ้น ๓ ประเภท ได้แก่ สัททนวกกลาป วจีวิญญัตติสัททนวกกลาป และวจีวิญญัติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป ซึ่งมีอธิบายดังต่อไปนี้
๑. การหัวเราะที่มีเสียงออกมาเบา ๆ และไม่แข็งแรงหรือไม่ดังมากนัก อันเนื่องมาจากจิตที่ไม่ค่อยเข้มแข็ง คือ เกิดจากความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือเกิดจากการสำรวมระวังวาจาของตนอยู่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการหัวเราะที่มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากภายในลำคอเพียงเล็กน้อย ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ เรียกว่า สัททนวกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีสัททรูปเป็นประธาน
๒. การหัวเราะที่มีเสียงออกมาเบา ๆ และไม่แข็งแรงหรือไม่ดังมากนัก อันเนื่องมาจากจิตที่ไม่ค่อยเข้มแข็ง คือ เกิดจากความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือเกิดจากการสำรวมระวังกิริยาอาการอยู่ เป็นต้น ซึ่งเป็นการหัวเราะที่มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากภายในลำคอเล็กน้อย คล้าย ๆ กับการหัวเราะแบบที่ ๑ แต่มีการเผยวจีวิญญัติออกมาด้วย เช่น หัวเราะหึ ๆ ฮะ ๆ แฮะ ๆ เป็นต้น ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ และวจีวิญญัติรูป ๑ เรียกว่า วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๐ รูปที่มีสัททรูปเป็นประธานและมีวจีวิญญัติรูปเกิดร่วมอยู่ด้วย
๓. การหัวเราะที่มีเสียงออกมาดัง ๆ และมีความเข้มแข็ง อันเกิดจากจิตที่มีสภาพเข้มแข็งเป็นปกติ หรือเข้มแข็งมากเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากบุคคลนั้นมีความสบายกายสบายใจ หรือร่าเริงเบิกบานเป็นพิเศษ หรือเกิดจากเหตุที่บุคคลนั้นไม่มีความสำรวมระวังกิริยาอาการ ทำให้มีเสียงหัวเราะออกมาดัง ๆ และมีความชัดเจน ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ เรียกว่า วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๓ รูปที่มีสัททรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นประธาน โดยมีวิการรูป ๓ มีลหุตารูปเป็นต้นเกิดร่วมอยู่ด้วย หมายความว่า จิตตชรูปประเภทวจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาปนี้ ก็ได้แก่ จิตตชรูปประเภทที่เป็นวจีวิญญัตติสัทททสกกลาปนั่นเอง แต่มีวิการรูป ๓ คือ ลหุตา ความเบา มุทุตา ความอ่อน และกัมมัญญตา ความเหมาะควรแก่การงานเกิดร่วมอยู่ด้วย จึงทำให้การหัวเราะนั้นมีสภาพเข้มแข็งหนักแน่นและมีความเป็นไปคล่องแคล่ว มีเสียงดังกึกก้องกังวาน และมีสภาพชัดเจน
ปฏิกิริยาของจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะนี้ มีความมุ่งหมายถึงในเวลาที่หัวเราะเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายหรือการแสดงปฏิกิริยาใด ๆ ทางร่างกายออกมาด้วย เพราะอำนาจของจิตในแต่ละขณะหรือแต่ละวิถีนั้น ย่อมสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายหรือทางวาจาได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เหตุที่สัตว์ทั้งหลายสามารถแสดงปฏิกิริยาทางร่างกายและการพูดหรือการหัวเราะ การร้องไห้ เป็นต้นออกมาได้หลายอย่าง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปพร้อมกันนั้น ก็เพราะสภาพของจิตมีความเกิดดับเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้ปฏิกิริยาของรูป ที่เรียกว่า จิตตชรูป นั้น ดูเหมือนว่าเป็นไปพร้อมกันดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าบุคคลใดสังเกตพิจารณาด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง โดยเฉพาะผู้เจริญวิปัสสนาจนจิตละเอียดแล้ว บุคคลนั้นย่อมเห็นความเหลื่อมล้ำแห่งปฏิกิริยาของรูปที่เกิดขึ้นนั้นว่า เป็นคนละขณะกันได้ เนื่องจากเห็นความขาดสายแห่งสันตติ คือ เห็นความขาดตอนแห่งรูปธรรม [จิตตชรูป] ที่เกิดดับติดต่อกันเป็นลำดับนั้นว่า เป็นคนละขณะกัน แต่เพราะมีความเกิดดับติดต่อกันเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้คนที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาจนเห็นอาการเกิดดับของรูปนามนั้น เห็นว่า เป็นอันเดียวกันหรือเป็นไปพร้อมกัน ดังกล่าวแล้ว