| |
ลักขณาทิจตุกะของอธิโมกขเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของอธิโมกขเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้รับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สันนิฏฐานะลักขะโณ มีการตัดสินเด็ดขาด เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาวะของอธิโมกขเจตสิก ย่อมทำลายจิตที่รวนเร อันมีอาการสองฝักสองฝ่ายในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีการตัดสินเด็ดขาดในอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม และการตัดสินนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ไม่เป็นข้อสำคัญของอธิโมกขเจตสิกนี้ แต่อธิโมกขเจตสิกเป็นเพียงสภาวธรรมที่มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ของตนโดยไม่ลังเล เพราะฉะนั้น การงานทั้งหลายที่เป็นสุจริตก็ตาม ทุจริตก็ตาม ที่สำเร็จลงไปได้นั้น ก็ด้วยอำนาจของอธิโมกขเจตสิกนี้ เป็นผู้กระทำให้สำเร็จ เช่น ผู้ที่จะทำบุญให้ทาน เป็นต้น การที่บุคคลสามารถทำทานได้สำเร็จ ก็เพราะมีการตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไป ถ้าหากจิตใจของผู้นั้นยังมีการลังเลไม่แน่นอน การกระทำทานย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางฝ่ายอกุศลก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ สภาวะของอธิโมกขเจตสิกจึงมีการตัดสินใจให้เกิดการกระทำที่เด็ดขาด ไม่ให้เกิดความรวนเรลังเลเกิดขึ้น ทำให้การงานนั้น ๆ สำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ

๒. อะสังสัปปะนะระโส มีการตั้งมั่นในอารมณ์ ไม่ลังเลสงสัย ซึ่งเป็นอาการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา เป็นกิจ หมายความว่า วิจิกิจฉาเป็นอกุศลเจตสิกดวงหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่สงสัยและลังเลในอารมณ์ ตัดสินใจแน่นอนไม่ได้ จึงทำให้จิตใจรวนเร ไม่สามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ลงไปได้โดยสะดวกรวดเร็ว หรือจิตที่มีวิจิกิจฉาเจตสิกประกอบร่วมด้วยนั้นไม่สามารถที่จะปักดิ่งไปในอารมณ์ได้อย่างหนักแน่น ทำให้ขาดกำลังในการกระทำกิจต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ส่วนอธิโมกขเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่ตรงข้ามกับวิจิกิจฉาเจตสิก เพราะไม่มีการรวนเรลังเล สามารถตัดสินใจทำอะไรลงไปได้โดยเด็ดขาด หรือทำให้จิตสามารถปักดิ่งลงไปในการกระทำ การพูด การคิดอย่างใดอย่างหนึ่งได้เต็มที่ ทำให้กำลังในกระทำสิ่งนั้น ๆ มีความหนักหน่วง ด้วยเหตุนี้ ในโมหมูลจิตดวงที่ ๑ ที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา ไม่มีอธิโมกขเจตสิกประกอบร่วมด้วยเลย โดยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาที่อธิโมกขเจตสิกปรากฏเกิดขึ้นแล้ว จิตและเจตสิกดวงอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกัน ย่อมมุ่งตรงและตั้นมั่นเสมอในอารมณ์ บุคคลนั้นสามารถกระทำกิจการต่าง ๆ ให้สำเร็จได้โดยเร็วพลัน นอกจากนี้ย่อมทำให้วิจิกิจฉาหายไปด้วย

๓. วินิจฉะยะปัจจุปปัฏฐาโน มีความเป็นผู้ตัดสินในอารมณ์โดยเด็ดขาด เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า อธิโมกขเจตสิกเป็นธรรมชาติที่ตัดสินอารมณ์ได้อย่างเด็ดขาด โดยไม่คำนึงว่า อารมณ์จะดีหรือไม่ดี และการตัดสินนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม แต่ก็ทำการตัดสินให้เด็ดขาดไปก่อน ส่วนการที่จะให้ตัดสินถูกหรือตัดสินผิดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวธรรมที่ประกอบพร้อมกับอธิโมกขเจตสิก ถ้าในขณะนั้นมีอกุศลเจตสิกประกอบร่วมด้วย ซึ่งมีอโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอารมณ์โดยไม่แยบคายเป็นผู้บงการ การตัดสินอารมณ์ของอธิโมกขเจตสิกในขณะนั้น ย่อมผิดตามอำนาจของอโยนิโสมนสิการ แต่ถ้าในขณะนั้น มีโสภณเจตสิกประกอบร่วมด้วย โดยมีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย เป็นตัวบงการ การตัดสินอารมณ์ของอธิโมกขเจตสิกในขณะนั้น ย่อมเป็นไปโดยถูกต้องตามความเป็นจริง ของอารมณ์นั้น ๆ ด้วย

๔. สันนิฏฐาตัพพะปะทัฏฐาโน มีอารมณ์ที่พึงตัดสิน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ในขณะที่จิตเจตสิกรับอารมณ์ใดอยู่ และในขณะนั้นไม่มีวิจิกิจฉาเข้าประกอบร่วมด้วยกับจิตดวงนั้น ทั้งอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องตัดสินเพื่อให้จิตเจตสิกสามารถรับรู้ได้ อารมณ์นั้นแหละ จึงเป็นเหตุใกล้ให้อธิโมกขเจตสิกเกิดขึ้น อธิบายความว่า อธิโมกขเจตสิกย่อมไม่เกิดพร้อมกับจิตที่มีวิจิกิจฉาเจตสิกร่วมด้วย เพราะมีสภาพเป็นปฏิปักษ์โดยตรง ส่วนทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ก็เป็นจิตอีกจำพวกหนึ่งที่ไม่มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย และทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงเหล่านี้ก็ไม่มีวิจิกิจฉาเจตสิกประกอบร่วมด้วยเช่นเดียวกัน เหตุที่ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนี้ไม่มีอธิโมกขเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะเป็นจิตที่ปรากฏเกิดขึ้นโดยมีอารมณ์มาปรากฏเฉพาะหน้า ด้วยการที่ปัญจทวาราวัชชนจิต ทำหน้าที่อาวัชชนะ คือ การรับและพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ส่งต่อให้ทวิปัญจวิญญาณจิตได้รับรู้ต่อไป ด้วยเหตุนี้ ทวิปัญจวิญญาณจิตจึงไม่มีหน้าที่ต้องทำการพิจารณาซ้ำอีก และเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เนื่องจากเป็นวิบากจิตที่เป็นอเหตุกะเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เพียงเล็กน้อยคือเพียงแต่รับอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยไม่ต้องมีการขวนขวายต่ออารมณ์ที่ตนเองรับรู้ แต่อย่างใดเลย

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา ท่านแสดงไว้ว่า ความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่า อธิโมกข์ อรรถของอธิโมกข์ก็คือมีความตกลงใจ เป็นลักษณะ มีการไม่แส่ไป เป็นกิจ มีการตัดสินเป็นปัจจุปปัฏฐาน มีธรรมที่จะต้องตัดสิน เป็นปทัฏฐาน สภาวะของอธิโมกขเจตสิกนี้พึงเข้าใจว่า เปรียบเหมือนเสาเขื่อนที่ปักแน่น ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะแรงลม ฉันใด อธิโมกขเจตสิกย่อมไม่หวั่นไหวในอารมณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน

ส่วนอธิโมกขเจตสิกที่เป็นหนึ่งในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ นั้น หมายถึง อาการที่น้อมใจเชื่อ โดยปราศจากปัญญา เพราะความหลงผิดคิดว่า ตนเองได้บรรลุมรรคผลแล้ว โดยที่มิได้พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็เชื่อแน่เสียแล้วว่าตนเองได้บรรลุมรรคผล อธิโมกขเจตสิกนี้ต่างกับศรัทธาเจตสิก เพราะศรัทธาเจตสิกย่อมใช้ดุลพินิจเป็นเครื่องพิจารณาใคร่ครวญให้รู้จักเหตุผลก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อตาม ส่วนอธิโมกข เจตสิกไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในอารมณ์ที่รับอยู่เท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |