| |
เอกมาติกา   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและวิภาวินีรุ.๔๗๕ ท่านได้แสดงสรุปความหมายของเอกมาติกาไว้ดังต่อไปนี้

ในคัมภีร์วิภาวินีแสดงไว้ว่า “พระอนุรุทธาจารย์กล่าวคำที่ขึ้นต้นว่า สพฺพญฺจ ปเนตํ เพื่อแสดงนัยที่กล่าวว่า รูปมีอย่างเดียวเป็นต้นตามที่แสดงไว้โดยย่อ” โดยดำริว่า “แม้นัยที่รูปมีอย่างเดียว ก็เป็นการจำแนกรูป” ข้อความนั้นไม่สอดคล้องกับข้อความในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เพราะพระอนุรุทธาจารย์ท่านกล่าวว่า “บัณฑิตทั้งหลายย่อมจำแนกรูป ๒๘ ประการ โดยประเภทแห่งรูปภายในเป็นต้นตามสมควร” ข้อความดังกล่าวแสดงว่า การจำแนกเป็นรูปภายในเป็นต้นเท่านั้น จึงเป็นการจำแนกรูป

ในประโยคนั้น รูปทั้งหมดไม่มีเหตุ เพราะปราศจากการประกอบกับเหตุ หมายความว่า ไม่มีการจำแนกว่ารูปใดรูปหนึ่งมีเหตุ หรือรูปใดรูปหนึ่งไม่มีเหตุ

มีข้อความ [ในอภิธัมมัตถสังคหะ] ว่า “มีปัจจัยปรุงแต่ง มีอาสวะ เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น เป็นโลกียะ” แต่ควรมีลำดับความว่า มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น เป็นโลกียะ มีอาสวะ” เพราะพบอย่างนั้นในพระบาลีและเป็นคู่เหมือนกัน ” ส่วนคำอื่น [คือ เป็นกามาวจร รับอารมณ์ไม่ได้ มิใช่สิ่งที่ควรประหาณ] แม้ไม่สอดคล้องกับลำดับในพระบาลีก็สมควร เพราะไม่มีคู่เหมือนกัน

[เอกมาติกา]

รูปที่เกิดร่วมกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดตน เรียกว่า สัปปัจจยะ [มีปัจจัยปรุงแต่ง]

รูปที่ถูกปัจจัยรวมกันแล้วทำให้เกิดขึ้น เรียกว่า สังขตะ [เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น]

รูปที่นับเนื่องในโลกคืออุปาทานขันธ์ เรียกว่า โลกียะ [นับเนื่องในโลก]

รูปที่เกิดร่วมกับอาสวะที่เป็นไปโดยปรารภตน เรียกว่า สาสวะ [มีอาสวะ]

รูปที่แม้เกิดในกระแสจิตของอกนิฏฐพรหม ก็เรียกว่า กามาวจระ เพราะนับเนื่องในกามตัณหา เนื่องจากเป็นอารมณ์ของกามตัณหา

รูปที่ไม่มีอารมณ์ใด ๆ ที่ตนรับรู้ได้ เรียกว่า อนารัมมณะ [รับอารมณ์ไม่ได้]

สภาวธรรมใดแม้ถูกละได้ [ชั่วคราว] ด้วยความเพียรอื่น ก็ไม่ถูกละ [โดยเด็ดขาด] เมื่อยังมีมูลเหตุ เพราะจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน [หมายถึง แม้อรูปพรหมจะไม่มีรูปด้วยความเพียรในอรูปฌานที่คลายความยินดีในรูป ก็จะมาเกิดในปัญจโวการภูมิอีก เมื่อยังมีมูลเหตุคือตัณหาที่ยินดีในภพอยู่] สภาวธรรมใดที่ยังละไม่ได้ก็ถูกละได้ [โดยสิ้นเชิง] ในเมื่อละเหตุได้แล้ว เพราะจะไม่เกิดขึ้นอีก [หมายถึง แม้ในปัจจุบันจะยังมีรูปอยู่ แต่ถ้ากำจัดตัณหาได้แล้วก็จะเข้าถึงพระนิพพาน ซึ่งไม่มีรูปเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะตัดภพชาติสิ้นแล้ว] สภาวธรรมนั้นมิใช่สิ่งที่ควรละ เพราะมิใช่ฐานะแห่งความเพียรเพื่อละ รูปก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อปฺปหาตพฺพเมว [มิใช่สิ่งที่ควรละ] หมายความว่า ไม่ควรทำความพยายามเพื่อละรูปธรรมทั้งหลาย เพราะมิใช่ฐานะ

อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่า อัปปหาตัพพะ เพราะละไม่ได้โดยปราศจากการละมูลเหตุ

ถามว่า หากเป็นไปตามนี้ พระดำรัสว่า “รูปํ ภิกฺขเว น ตุมฺหากํ. ตํ ปชหถ. ตํ โว ปหีนํ ทีฆรตฺตํ อตฺถาย หิตาย สุขาย ภวิสฺสติรุ.๔๗๗ [ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปนี้มิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปที่พวกเธอละได้แล้วนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล และเพื่อความสุขสิ้นกาลนาน] ดังนี้ จะสมควรอย่างไร ?

ตอบว่า พระดำรัสนั้น ตรัสหมายเอาการละราคะที่มีอยู่เป็นอารมณ์ ดังพระพุทธพจน์ว่า “รูเป โข ราธ โย ฉนฺโท, โย ราโค, ยา นนฺที, ยา ตณฺหา, ตํ ปชหถ. เอวํ ตํ รูปํ ปหีนํ ภวิสฺสติ อุจฺฉินฺนมูลํ ตาลาวตฺถุกตํ อนภาวํ กตํ อายตึ อนุปฺปาทธมฺมํรุ.๔๗๘แปลความว่า ดูกรราธะ ความปรารถนา ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความยินดีในรูปนั้น เมื่อรูปถูกละได้อย่างนี้ จักมีรากขาดสิ้น ถูกทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่หวนกลับมาอีก มีความไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

รูปที่จำแนกเป็นเอกมาติกา ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔๗๙ ท่านได้แสดงสรุปความไว้ดังต่อไปนี้

รูปที่ชื่อว่า อเหตุกะ เพราะไม่มีเหตุมีอโลภะเป็นต้น ที่สัมปยุตต์ รูปที่ชื่อว่า สปัจจยะ เพราะมีปัจจัยตามที่เป็นของตน รูปที่ชื่อว่า สาสวะ เพราะประกอบด้วยอาสวะมีกามาสวะเป็นต้น รูปที่ชื่อว่า สังขตะ เพราะถูกปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่ง รูปที่ชื่อว่า โลกียะ เพราะเกี่ยวข้องในโลก กล่าวคืออุปาทานขันธ์ รูปที่ชื่อว่า กามาวจระ เพราะเป็นแดนที่กามตัณหาท่องเที่ยวไป รูปที่ชื่อว่า อนารัมมณะ เพราะอรรถว่า ไม่มีอารมณ์ เพราะไม่ถือเอาอารมณ์อะไร ๆ เหมือนพวกอรูปธรรม [นามรูป] รูปที่ชื่อว่า อัปปหาตัพพะ เพราะไม่เป็นของจำต้องละด้วยอำนาจตทังคปหาน [ละชั่วครั้งชั่วคราว] เป็นต้น ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้สงเคราะห์รูปโดยเอกวิธนัยทั้งหมด มีนัยว่า อพฺยากตํ เป็นต้น [ความว่า รูปทั้งหมดเป็นอัพยากตธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่ใช่บุญหรือบาป แต่เป็นผลของบุญและบาป หรือเป็นธรรมที่นอกจากบุญ บาป และผลของบุญและบาป ซึ่งได้แก่ จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป]

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้กล่าวถึงรูปวิภาคนัยในส่วนที่เป็นเอกมาติกาไว้ในคู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะปริจเฉทที่ ๖รุ.๔๘๐ ดังต่อไปนี้

รูป ๒๘ ทั้งหมดนี้ มีชื่อตามสภาวะ ๘ ชื่อด้วยกัน ดังนี้คือ

๑. ชื่อว่า อเหตุกะ รูปที่ชื่อว่า สเหตุกะ ไม่มี เพราะไม่ประกอบด้วยเหตุ

๒. ชื่อว่า สปัจจยะ รูปที่ชื่อว่า อปัจจยะ ไม่มี เพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง

๓. ชื่อว่า สาสวะ รูปที่ชื่อว่า อนาสวะ ไม่มี เพราะเป็นอารมณ์ของอาสวะ

๔. ชื่อว่า สังขตะ รูปที่ชื่อว่า อสังขตะ ไม่มี เพราะถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔

๕. ชื่อว่า โลกียะ รูปที่ชื่อว่า โลกุตตระ ไม่มี เพราะเป็นธรรมที่สงเคราะห์เข้าในสังขารโลก

๖. ชื่อว่า กามาวจระ รูปที่ชื่อว่า รูปาวจระ อรูปาวจระ ไม่มี เพราะรูปเป็นอารมณ์ของกามตัณหา

๗. ชื่อว่า อนารัมมณะ รูปที่ชื่อว่า สารัมมณะ ไม่มี เพราะไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้

๘. ชื่อว่า อัปปหาตัพพะ รูปที่ชื่อว่า ปหาตัพพะ ไม่มี เพราะรูปทั้งหมดไม่ใช่เป็นธรรมที่ควรประหาณ

รูป ๒๘ นี้ เมื่อจำแนกโดยชื่อ ๘ ชื่อ มีอเหตุกะ สปัจจยะ เป็นต้นแล้ว ย่อมมีเพียงประเภทเดียว ไม่มีประเภทที่ตรงกันข้าม คือ รูปที่ชื่อว่า อเหตุกะ นั้นแหละ ชื่อว่า สปัจจยะ สาสวะ สังขตะ โลกียะ กามาวจระ อนารัมมณะ อัปปหาตัพพะ ด้วย แต่ถ้าจำแนกโดยความเป็นอัชฌัตตะ วัตถุ เป็นต้นแล้ว ย่อมมีประเภทที่ตรงกันข้ามได้ เช่น เมื่อจำแนกรูป ๒๘ โดยความเป็นอัชฌัตติกะแล้ว รูปที่เป็นพาหิระก็ย่อมมี และเมื่อจำแนกโดยความเป็นวัตถุรูปแล้ว รูปที่เป็นอวัตถุย่อมมี เป็นคู่ ๆ กันไป ซึ่งมีอยู่ ๑๑ คู่ด้วยกัน

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๘๑ ได้แสดงอธิบายรูปวิภาคนัยโดยเอกมาติกาไว้ดังต่อไปนี้

เอกมาติกา เป็นการแสดงแม่บทของรูปธรรมทั้ง ๒๘ รูป ซึ่งมีความหมายและมีประเภทอย่างเดียวกัน มีชื่อตามความหมายในสภาวะต่าง ๆ ๘ ชื่อ ดังนี้คือ

๑. อเหตุกะ หมายถึง รูปทั้ง ๒๘ รูป ไม่มีเหตุประกอบ คือ ไม่มีเหตุ ๖ สัมปยุตต์ด้วย แม้แต่เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะฉะนั้น รูปที่ประกอบด้วยเหตุ ที่จะได้ชื่อว่า สเหตุกะ นั้นจึงไม่มี

๒. สปัจจยะ หมายถึง รูปทั้ง ๒๘ รูป ล้วนเป็นธรรมที่ต้องอาศัยปัจจัย ๔ เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นสมุฏฐานทำให้รูปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น รูปที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่จะได้ชื่อว่า อปัจจยะ นั้นจึงไม่มี

๓. สาสวะ หมายถึง รูปธรรมทั้งปวง ย่อมเป็นอารมณ์แก่อาสวธรรม คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะได้ ส่วนรูปที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ ที่จะได้ชื่อว่า อนาสวะ นั้นไม่มี

๔. สังขตะ หมายถึง รูปธรรมทั้งหมดเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป รูปธรรมทั้งหลายย่อม ตกอยู่ใต้กฎแห่งการปรุงแต่งเหล่านั้น อันมีกรรม จิต อุตุ และอาหาร เป็นตัวการปรุงแต่ง ส่วนรูปที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ ที่จะได้ชื่อว่า อสังขตะ นั้นไม่มี

๕. โลกียะ หมายถึง รูปธรรมทั้งหมด เป็นธรรมที่สงเคราะห์เข้าในสังขารโลก มีสภาพที่ต้องแตกดับอยู่เสมอ ส่วนรูปธรรมที่พ้นจากความแตกดับ ที่จะได้ชื่อว่า โลกุตตระ นั้นไม่มี

๖. กามาวจระ หมายถึง รูปธรรมทั้งหมดเป็นอารมณ์ของกามาวจรจิตเท่านั้น ส่วนรูปที่เป็นอารมณ์ของมหัคคตจิตหรือโลกุตตรจิตนั้นไม่มี เพราะมหัคคตจิตมีบัญญัติและมีอรูปฌานจิตเป็นอารมณ์ ส่วนโลกุตตรจิตนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น รูปที่จะได้ชื่อว่า รูปาวจระ อรูปาวจระ และโลกุตตระ นั้นไม่มี

๗. อนารัมมณะ หมายถึง รูปธรรมทั้งหมดไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้เหมือนจิตและเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม ส่วนรูปใด ๆ ที่สามารถรับรู้อารมณ์ ที่จะได้ชื่อว่า สารัมมณะ นั้นไม่มี

๘. อัปปหาตัพพะ หมายถึง รูปธรรมทั้งหมดมิใช่เป็นปหาตัพพธรรม คือ ธรรมที่พึงประหาณ กิเลสตัณหาต่างหากเป็นสิ่งที่ควรละควรประหาณ เพราะฉะนั้น รูปที่พึงประหาณ ที่จะได้ชื่อว่า ปหาตัพพธรรม นั้นจึงไม่มี

มาติกาบททั้ง ๘ ของรูปธรรมทั้ง ๒๘ ที่กล่าวมานี้ เป็นการแสดงโดยนัยเดียว กล่าวคือ ประเภทเดียว ไม่มีประเภทที่ตรงกันข้ามแต่ประการใด เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า เอกมาติกา

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามที่พระอรรถกถาจารย์และคณาจารย์ทั้งหลายในรุ่นหลังต่อมาตามลำดับ ได้แสดงประเภทของรูปโดยเอกมาติกาไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าขออธิบายและสรุปความแห่งนัยนั้นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

เอกมาติกา เป็นการแสดงแม่บทของรูปธรรมทั้ง ๒๘ รูป โดยนัยที่มีความหมาย และมีประเภทอย่างเดียวกัน ไม่มีประเภทและความหมายที่ตรงกันข้ามแต่ประการใด ซึ่งมีชื่อตามความหมายในสภาวะต่าง ๆ ๘ ชื่อด้วยกัน กล่าวคือ

๑. อเหตุกะ เป็นธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดล้วนแต่เป็นธรรมที่ไม่สัมปยุตต์ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโลภเหตุเป็นต้น เพราะบรรดาเหตุทั้งหมดนั้นเป็นเจตสิกธรรม ซึ่งมีสภาพเป็นนามธรรม ย่อมสัมปยุตต์กับนามธรรมด้วยกันคือจิตและเจตสิกเหล่าอื่นเท่านั้น ย่อมไม่สามารถสัมปยุตต์กับรูปธรรมได้เลย เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า สเหตุกะ คือ รูปที่ประกอบด้วยเหตุนั้นจึงไม่มี

๒. สปัจจยะ เป็นธรรมที่เกิดจากปัจจัย หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดล้วนแต่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งปัจจัยที่ปรุงแต่งให้รูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นนั้น มี ๔ ประการ ได้แก่ กรรม จิต อุตุ และอาหาร อันเป็นสมุฏฐานที่ทำให้รูปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า อปัจจยะ คือ รูปที่ไม่มีปัจจัยใด ๆ ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเลยนั้นจึงไม่มี

๓. สาสวะ เป็นธรรมที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ หมายความว่า รูปทั้งหมดล้วนเป็นอารมณ์ของอาสวะ [กิเลสที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานทำให้สัตว์ทั้งหลายเกิดความมึนเมาในอารมณ์ต่าง ๆ และในสังสารวัฏ] ทั้งสิ้น ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า อนาสวะ คือ รูปที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของอาสวะนั้นจึงไม่มี

๔. สังขตะ เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่ง หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดล้วนเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒–๓–๔ อย่าง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ รูปธรรมทั้งหมดจึงตกอยู่ในกฎเกณฑ์แห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า อสังขตะ คือ รูปที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเลยนั้นจึงไม่มี เพราะอสังขตธรรมนั้น ได้แก่ นิพพาน และ บัญญัติ เท่านั้น

๕. โลกียะ เป็นโลกียธรรม หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดล้วนแต่เป็นโลกียะทั้งสิ้น เพราะรูปธรรมทั้งหมดเป็นธรรมที่นับสงเคราะห์เข้าในสังขารโลก คือ มีความแตกดับหรือเสื่อมสิ้นสลายไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า โลกุตตระ คือ เป็นธรรมที่พ้นจากการนับสงเคราะห์เข้าในสังขารโลก ได้แก่ รูปที่ไม่มีการแตกดับทำลายหรือไม่มีการเสื่อมสิ้นสลายไปนั้นไม่มี เพราะโลกุตตรธรรม ได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ และนิพพานเท่านั้น

๖. กามาวจระ เป็นกามาวจรธรรมอย่างเดียว หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดล้วนแต่เป็นอารมณ์ของกามตัณหาอย่างเดียว เพราะรูปธรรมทั้งหมดจัดเป็นกามอารมณ์ กล่าวคือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ อันน่าใคร่น่ายินดีของกามตัณหา ส่วนรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า รูปาวจระ อรูปาวจระ และ โลกุตตระ นั้นไม่มี เพราะธรรมที่ได้ชื่อว่า รูปาวจระ ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ และเจตสิกที่ประกอบ ๓๕ ดวงเท่านั้น ซึ่งได้แก่ รูปฌาน อันเป็นอารมณ์ของรูปตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและรูปภพ ธรรมที่ได้ชื่อว่า อรูปาวจระ ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิกที่ประกอบ ๓๐ ดวงเท่านั้น ซึ่งได้แก่ อรูปฌาน อันเป็นอารมณ์ของอรูปตัณหา คือ ความยินดีพอใจในอรูปฌานและอรูปภพ ธรรมที่ชื่อว่า โลกุตตระ ได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ และนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของตัณหาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะโลกุตตรธรรมนั้นเป็นสภาพที่ประหาณตัณหา ดับตัณหา และสงบจากตัณหา ด้วยเหตุนี้ รูปธรรมทั้งหมดจึงไม่มีองค์ธรรมอยู่ใน รูปาวจระ อรูปาวจระ และโลกุตตระ เลย เป็นองค์ธรรมอยู่เฉพาะในกามาวจระอย่างเดียว

๗. อนารัมมณะ เป็นสภาวะที่รู้อารมณ์ไม่ได้ หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดไม่สามารถรู้อารมณ์ได้เลย เพราะสภาวะที่สามารถรู้อารมณ์ได้นั้น ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเป็นสภาวะที่เป็นนามธรรม เรียกว่า สารัมมณะ เท่านั้น ถ้ารูปธรรมสามารถรู้อารมณ์ได้แล้วไซร้ สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายย่อมจะรู้อารมณ์และเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ได้เหมือนกันกับสัตว์มีชีวิต แต่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายมีต้นไม้ ก้อนดิน เป็นต้น ย่อมไม่สามารถมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส และไม่มีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือโกรธ เกลียด กลัว ดีใจ เสียใจ เป็นต้นแต่ประการใดเลย เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า สารัมมณะ คือ สภาวะที่รู้อารมณ์ได้นั้นจึงไม่มี อนึ่ง แม้ปสาทรูปทั้ง ๕ กล่าวคือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป จะเป็นสภาพธรรม ที่เรียกว่า สัปปฏิฆรูป คือ รูปธรรมที่สามารถรับกระทบกับอารมณ์ได้ก็จริง แต่การรับกระทบกับอารมณ์นั้น ไม่ใช่เป็นการรู้อารมณ์ เพียงแต่เป็นฐานรับกระทบกับอารมณ์ที่ตรงกับสภาพของตน ๆ แล้วเป็นฐานให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้น ๆ เท่านั้น โดยที่ปสาทรูปเหล่านั้นไม่ได้รู้สึกต่ออารมณ์เหล่านั้นเลย

๘. อัปปหาตัพพะ เป็นธรรมที่ไม่ควรประหาณ หมายความว่า รูปธรรมทั้งหมดไม่ใช่เป็นธรรมที่ควรประหาณ เพราะว่าธรรมที่ควรประหาณนั้น ได้แก่ กิเลสและอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ อกุศลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ๒๗ หรือกิเลส ๑๐ อย่าง ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ ส่วนรูปธรรมทั้งหลายเป็นอัพยากตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล แต่เป็นผลของโลกียกุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่เรียกว่า กัมมชรูป ส่วนจิตตชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูปนั้น ไม่ใช่กุศลกรรมและอกุศลกรรม ทั้งไม่ใช่เป็นผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรมด้วย เพราะฉะนั้น รูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะได้ชื่อว่า ปหาตัพพธรรม คือ ธรรมที่ควรประหาณนั้นจึงไม่มีเลย

มาติกาทั้ง ๘ บทของรูปธรรมทั้ง ๒๘ ที่กล่าวมานี้ เป็นการแสดงโดยนัยเดียว คือ มีประเภทเดียวและความหมายอย่างเดียวกัน ไม่มีประเภทและความหมายที่ตรงกันข้ามแต่ประการใด เนื่องจากมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวของชื่อแต่ละชื่อนั้นอยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่อแสดงชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมบ่งบอกถึงความหมายของรูปธรรมได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ชื่อที่เป็นแม่บทของรูปแต่ละอย่างนั้น จึงได้ชื่อว่า เอกมาติกา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |