| |
พุทธภาษิตเรื่องอาหาร   |  

อาหารสูตร

ข้าพเจ้า [พระอานนทเถระ] ได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิดรุ.๓๑๙ อาหาร ๔ อย่างอะไรบ้าง คือ

๑. กวฬิงการาหาร [อาหารคือคำข้าว] ที่หยาบหรือละเอียด

๒. ผัสสาหาร [อาหารคือผัสสะ]

๓. มโนสัญเจตนาหาร [อาหารคือมโนสัญเจตนา]

๔. วิญญาณาหาร [อาหารคือวิญญาณ]

อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด [สัมภเวสี]

อาหาร ๔ อย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ?

อาหาร ๔ อย่างนี้ มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด

อนึ่ง ตัณหานี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร เป็นแดนเกิด ?

ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด

เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ?

เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็น แดนเกิด

ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ?

ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็นกำเนิดมีสฬายตนะเป็นแดนเกิด

สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ?

สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด

นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ?

นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด

วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น แดนเกิด ?

วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด

อนึ่ง สังขารเหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ?

สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

อนึ่ง เพราะอวิชชานั้นดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ ดังพรรณนามาฉะนี้ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้รุ.๓๒๐

โมลิยผัคคุนสูตร

ข้าพเจ้า [พระอานนทเถระ] ได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วหรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด อาหาร ๔ อย่างอะไรบ้าง คือ

๑. กวฬิงการาหารที่หยาบหรือละเอียด

๒. ผัสสาหาร

๓. มโนสัญเจตนาหาร

๔. วิญญาณาหาร

อาหาร ๔ อย่างนี้ เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว หรือเพื่ออนุเคราะห์หมู่สัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระโมลิยผัคคุนะได้กราบทูลถามสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครหนอ ย่อมกลืนกินวิญญาณาหาร?” สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า “ปัญหานี้ไม่สมควรถาม เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมกลืนกิน’ ถ้าเราพึงกล่าวว่า ‘ย่อมกลืนกิน’ ในคำกล่าวนั้นไซร้ ปัญหาที่สมควรถามก็คือ ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครหนอ ย่อมกลืนกิน’ เมื่อเรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ที่ถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วิญญาณาหารมีเพื่ออะไร’ ปัญหาของผู้นั้นจึงเป็นปัญหาที่สมควรถาม ในปัญหานั้น คำตอบที่สมควรคือ ‘วิญญาณาหารเป็นปัจจัยเพื่อเกิดในภพใหม่ต่อไป เมื่อวิญญาณาหารนั้นเกิดแล้ว สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี”

ม. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมถูกต้อง"

ภ. “ปัญหานี้ไม่สมควรถาม เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมถูกต้อง’ ถ้าเราพึงกล่าวว่า ‘ย่อมถูกต้อง” ในคำกล่าวนั้น ปัญหาที่สมควรถามก็คือ ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมถูกต้อง’ เมื่อเรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ที่ถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ ปัญหาของผู้นั้นจึงเป็นปัญหาที่สมควรถาม ในปัญหานั้น คำตอบที่สมควรคือ ‘เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี”

ม. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมเสวยอารมณ์”

ภ. “ปัญหานี้ไม่สมควรถาม’ เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมเสวยอารมณ์’ ถ้าเราพึงกล่าวว่า ‘ย่อมเสวยอารมณ์’ ในคำกล่าวนั้น ปัญหาที่สมควรถามก็คือ ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครหนอย่อมเสวยอารมณ์’ เมื่อเรามิได้กล่าวอย่างนั้น ผู้ที่ถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ ปัญหาของผู้นั้นจึงเป็นปัญหาที่สมควรถาม ในปัญหานั้น คำตอบที่สมควรคือ ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี”

ม. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมทะยานอยาก”

ภ. “ปัญหานี้ไม่สมควรถาม เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมทะยานอยาก’ ถ้าเราพึงกล่าวว่า ‘ย่อมทะยานอยาก’ ในคำกล่าวนั้น ปัญหาที่สมควรถามก็คือ ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมทะยานอยาก’ เมื่อเรามิได้กล่าวอย่างนี้ ผู้ที่ถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอะไรเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ ปัญหาของผู้นั้น จึงเป็นปัญหาที่สมควรถาม ในปัญหานั้น คำตอบที่สมควรคือ ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี”

ม. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมถือมั่น”

ภ. “ปัญหานี้ไม่สมควรถาม เรามิได้กล่าวว่า ‘ย่อมถือมั่น’ ถ้าเราพึงกล่าวว่า ‘ย่อมถือมั่น’ ในคำกล่าวนั้น ปัญหาที่สมควรถามก็คือ ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าย่อมถือมั่น’ เมื่อเรามิได้กล่าวอย่างนี้ ผู้ที่ถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ ปัญหาของผู้นั้นจึงเป็นปัญหาที่สมควรถาม ในปัญหานั้น คำตอบที่สมควรคือ ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้

ภ. ผัคคุนะ ก็เพราะผัสสายตนะทั้ง ๖ ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้รุ.๓๒๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |