| |
ลักขณาทิจตุกะของกุกกุจจเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของกุกกุจจเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปัจฉานุตาปะนะลักขะณัง มีการเดือดร้อนใจเนือง ๆ ในภายหลัง เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของกุกกุจจะนี้เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใดโดยการปรารภถึงการกระทำที่เป็นความผิดความชั่วร้าย บุคคลนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อนใจ เมื่อหวนระลึกถึงอดีตอันชั่วร้ายนั้น ด้วยคิดว่า “เราได้สร้างกรรมอันโหดร้ายทารุณ กระทำความผิดอันใหญ่หลวง” ดังนี้เป็นต้น ย่อมเดือดร้อนใจอยู่เป็นนิตย์ หรือบุคคลนั้นไม่ได้สร้างคุณงามดีที่สมควรกระทำ เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป ย่อมเกิดความเดือนร้อนใจ ด้วยคิดว่า “ความดีงามและคุณค่าแห่งชีวิต เราไม่เคยได้ทำไว้เลย ถ้าเราได้ทำคุณงามความดีไว้ในกาลก่อน ชีวิตของเราคงจะมีความสุข มีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่นี้” ดังนี้เป็นต้น บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนใจเช่นเดียวกัน

๒. กะตากะตานุโสจะนะระสัง มีการตามเศร้าโศกเนือง ๆ ในบาปที่ทำไปแล้ว และในบุญที่ยังไม่ได้ทำ เป็นกิจ หมายความว่า กุกกุจจเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมแสดงความเดือดร้อนใจให้ปรากฏเกิดขึ้นในใจของบุคคลนั้น โดยปรารภถึงบาปธรรมทั้งหลายที่ตนเองได้กระทำลงไปแล้วในอดีต ซึ่งเป็นความเลวร้าย ยากที่จะให้อภัยได้ หรือปรารภถึงคุณงามความดีที่ตนเองควรจะทำ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ให้ตนเองได้ประสบกับความสุขและความเจริญกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ว่าตนเองไม่ได้ทำไว้ เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ระลึกรู้ไม่เท่าทันความจริง เมื่อนึกถึงดังนี้แล้วย่อมเกิดความเดือดร้อนใจอยู่เนือง ๆ

๓. วิปปะฏิสาระปัจจุปปัฏฐานัง มีความขุ่นข้องหมองใจและเดือดร้อนใจ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของกุกกุจจเจตสิกนี้ ย่อมปรากฏเป็นสภาพที่ขุ่นข้องหมองใจ ทำให้ขาดความภาคภูมิใจในชีวิตของตนเอง ทำให้บุคคลนั้นขาดกำลังใจที่จะสร้างสรรค์อนาคตที่สดใสให้กับชีวิตต่อไป โดยคิดว่า สายเกินไปที่จะเริ่มต้นใหม่ได้ และทอดถอนใจเมื่อระลึกถึงกรรมนั้นอยู่เสมอ ๆ

๔. กะตากะตะปะทัฏฐานัง มีการได้ทำบาปและมิได้ทำบุญไว้ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด พึงเห็นเหมือนอย่างความเป็นทาสของบุคคลอื่น หมายความว่า สภาพของกุกกุจจเจตสิกนี้ ย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลที่ได้กระทำบาปกรรมอันชั่วหยาบโหดร้ายทารุณไว้ หรือบุคคลที่ไม่เคยได้สั่งสมคุณงามความดีไว้ เมื่อปรารภถึงสิ่งเหล่านี้แล้ว สภาพของกุกกุจจเจตสิกจึงเกิดขึ้นรบกวนจิตใจของบุคคลนั้นได้ เหมือนบุคคลที่ตกไปเป็นทาสของบุคคลอื่น เมื่อคิดจะกระทำการงานสร้างฐานะของตนให้ดีขึ้น ก็หมดโอกาสที่จะกระทำได้แล้ว เพราะความเป็นทาสนั้นไม่มีอิสระใด ๆ แม้แต่ตัวของบุคคลนั้นเอง ชีวิตทั้งชีวิตย่อมเป็นสมบัติของนายทาสอย่างเดียว กิจการงานที่ทำก็ดี รายได้จากการทำงานก็ดี ย่อมตกเป็นของนายทาสเท่านั้น แม้เขาจะใฝ่ฝันไปอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงก็คือเขาเป็นทาส ไม่มีอิสระที่จะทำอะไรตามใจคิดได้

อนึ่ง ความสำคัญว่า ควรในของที่ไม่ควร หรือสำคัญว่า ไม่ควรในของที่ควรนั้นเป็นมูลเหตุแห่งกุกกุจจะ หมายความว่า บุคคลที่ขาดจิตสำนึกขาดโยนิโสมนสิการคือปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ทำให้บุคคลนั้นไม่ได้ยั้งคิดพิจารณาว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควร แล้วได้กระทำสิ่งที่ผิดสิ่งที่ชั่วร้ายลงไป ด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะความคึกคะนองใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภายหลังเมื่อนึกถึงบาปนั้น ย่อมเกิดความเดือดร้อนใจว่า เราได้ทำแต่สิ่งที่ไม่ดีไว้ ความดีงามที่สมควรจะทำ เราก็ไม่เคยได้ทำไว้เลย เราเป็นคนไม่มีวาสนา หมดหนทางแห่งความดีงาม เราพลาดโอกาสที่จะได้ประสบกับความดีงามแล้ว ดังนี้เป็นต้น ย่อมเกิดความเดือดร้อนใจเนือง ๆ เมื่อยามนึกถึง

แต่ถ้าบุคคลใด ไม่ได้กระทำบาปกรรมอันชั่วหยาบโหดร้ายทารุณไว้ หรือเป็นผู้ที่ได้สั่งสมคุณงามความดีมาพอสมควรแล้ว หรือได้ทำคุณไถ่โทษในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว บุคคลนั้นย่อมเกิดความภาคภูมิใจและปลอดโปร่งโล่งใจ บรรเทาสภาพของกุกกุจจเจตสิกให้เบาบางลงและหมดไปได้ในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ โทสมูลจิตที่ประกอบด้วยกุกกุจจเจตสิกจึงไม่สามารถเกิดขึ้นรบกวนจิตใจได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |