ไปยังหน้า : |
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาสหคตัง จักขุวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยจักขุวัตถุรับรูปารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรูปารมณ์ไม่ดีทางตา หมายความว่า เมื่อรูปารมณ์ คือ รูปต่าง ๆ [หรือสีต่าง ๆ] ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้น มาปรากฏทางจักขุทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรับพิจารณารูปารมณ์นั้นแล้ว จักขุวิญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์นั้นทางจักขุทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตอกุศลกรรมของตน เช่น เห็นสุนัขเน่า ปลาเน่า ศพเน่า หรือ เห็นคนทำความชั่วต่าง ๆ เป็นต้น จักขุวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรง เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่แสงหรือสีกระทบกับจักขุประสาทมีขนาดเล็กเท่าหัวเหาอยู่ตรงกลางตาดำมีเยื่อตาหุ้มอยู่ ๗ ชั้นเท่านั้น เป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป จึงไม่สามารถทำให้เกิดทุกขเวทนาได้
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาสหคตัง โสตวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยโสตวัตถุรับสัททารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู หมายความว่า เมื่อสัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้น มาปรากฏทางโสตทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรับพิจารณาสัททารมณ์นั้นแล้ว โสตวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นรับรู้สัททารมณ์นั้นทางโสตทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตอกุศลกรรมของตน เช่น ได้ยินเสียงบ่นเสียงด่า เสียงการทะเลาะวิวาทกัน หรือ ได้ยินเสียงสัตว์นรก เปรตร้องอย่างโหยหวน เป็นต้น โสตวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรง เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่คลื่นเสียงกระทบกับโสตประสาทซึ่งมีลักษณะคล้ายวงแหวนมีขนอ่อน ๆ สีแดงเรื่อขึ้นอยู่โดยรอบมีสัณฐานเท่าหลังเล็บเท่านั้น เป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป จึงไม่สามารถทำให้เกิดทุกขเวทนาได้
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๓ อุเปกขาสหคตัง ฆานวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยฆานวัตถุรับคันธารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้กลิ่นที่ไม่ดีทางจมูก หมายความว่า เมื่อคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้นมาปรากฏทางฆานทวารหลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรับพิจารณาคันธารมณ์นั้นแล้ว ฆานวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นรับรู้คันธารมณ์นั้นทางฆานทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตอกุศลกรรมของตน เช่น ได้กลิ่นซากศพ กลิ่นสิ่งของเหม็นสาบ กลิ่นบุหรี่ กลิ่นสุรา หรือ ได้กลิ่นสาบสางของอบายสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ฆานวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรง เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่กลิ่นกระทบกับฆานประสาทที่อยู่ข้างในโพรงจมูกซึ่งมีสัณฐานดังกีบเท้าแพะเท่านั้น เป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป จึงไม่สามารถทำให้เกิดทุกขเวทนาได้
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๔ อุเปกขาสหคตัง ชิวหาวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุรับรสารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รู้รสที่ไม่ดีทางลิ้น หมายความว่า เมื่อรสารมณ์คือรสต่าง ๆ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้นมาปรากฏทางชิวหาทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรับพิจารณารสารมณ์นั้นแล้ว ชิวหาวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นรับรู้รสารมณ์นั้นทางชิวหาทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตอกุศลกรรมของตน เช่น ได้ลิ้มรสของเผ็ด ขม ฝาด เป็นต้น อันไม่เป็นที่น่าปรารถนา หรือได้รับประทานอาหารที่หยาบ ๆ ไม่ประณีต เป็นต้น ชิวหาวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรง เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่สภาพของรสที่ซึมซาบเข้าไปกระทบกับชิวหาประสาทที่อยู่ท่ามกลางลิ้นมีสัณฐานดังปลายกลีบดอกอุบลเท่านั้น เป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูป จึงไม่สามารถทำให้เกิดทุกขเวทนาได้
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๕ ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยกายวัตถุรับโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยทุกขเวทนา ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดีทางกาย หมายความว่า เมื่อโผฏฐัพพารมณ์ คือ การกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนานั้นมากระทบทางกายทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรับพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์นั้นแล้ว กายวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์นั้นทางกายทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตอกุศลกรรมของตน เช่น ถูกต้องกับแสงแดดที่ร้อนระอุ กระทบกับน้ำที่เย็นเฉียบ กระทบกับกระแสลมที่พัดมาอย่างแรง หรือ ถูกตี ถูกตบ ถูกต่อย ถูกยิง เป็นต้น กายวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยทุกขเวทนา เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความหนักหน่วง เนื่องจากมหาภูตรูปคือโผฏฐัพพารมณ์นั้นกระทบกับอุปาทายรูปคือกายประสาท จึงทำให้การกระทบมีความรุนแรง เปรียบเหมือนค้อนกระทบกับสำลี ซึ่งเป็นการกระทบกันของมหาภูตรูปกระทบกับอุปาทายรูป จึงทำให้เกิดทุกขเวทนาได้
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคตัง สัมปฏิจฉนจิตตัง แปลความว่า จิตที่รับปัญจารมณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรู้ปัญจารมณ์ที่ไม่ดีทางปัญจทวาร หมายความว่า เมื่อปัญจวิญญาณจิต คือ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต กายวิญญาณจิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้นรับรู้อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ซึ่งปรากฏทางทวารของตนโดยเฉพาะ ๆ และดับลงแล้ว สัมปฏิจฉนจิตที่เป็นอกุศลวิปากจิตนี้ก็เกิดขึ้นรับอนิฏฐารมณ์นั้นต่อจากปัญจวิญญาณ แล้วจึงส่งให้สันตีรณจิตที่เป็นอกุศลวิบากด้วยกันไต่สวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ได้ทำหน้าที่ที่มากไปกว่านี้ เป็นแต่เพียงรับแล้วก็ส่งให้สันตีรณจิตเท่านั้น ฉะนั้น สัมปฏิจฉนจิตนี้ แม้จะเป็นอกุศลวิบาก และรับอารมณ์ที่ไม่ดีมากน้อยเพียงใดก็ตาม ก็เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เนื่องจากขอบเขตในการทำหน้าที่มีน้อยนั่นเอง
อกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง แปลความว่า จิตที่ไต่สวนปัญจารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ไต่สวนปัญจารมณ์ที่ไม่ดี หมายความว่า เมื่อสัมปฏิจฉนจิต ที่เป็นอกุศลวิบากรับปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาต่อจากปัญจวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบากด้วยกันส่งต่อมาให้แล้ว สันตีรณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นไต่สวนพิจารณาอนิฏฐารมณ์นั้น ว่าเป็นอารมณ์ประเภทไหน เกิดทางทวารใด แล้วจึงส่งให้โวฏฐัพพนจิต [มโนทวาราวัชชนจิต] ที่เป็นอเหตุกกิริยาจิตตัดสินให้ชวนะเสพต่อไป สันตีรณจิตที่เป็นอกุศลวิบากนี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เนื่องจากเป็นแต่เพียงทำหน้าที่ไต่สวนพิจารณาอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา แม้จะเป็นอารมณ์ไม่ดีมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไต่สวนไปด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ฝืนทนรับสภาพของสิ่งไม่ดีไม่งามที่เกิดขึ้นกับตนเองโดยไม่แสดงอาการยินดียินร้ายต่อสิ่งนั้น
อนึ่ง อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิตนี้ นอกจากทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ ที่เรียกว่า สันตีรณกิจ แล้ว ยังทำหน้าที่อย่างอื่นอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ตทาลัมพนกิจ ทำหน้าที่เสพอารมณ์ หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่อจากชวนะ หมายความว่า เมื่อกามชวนะ ๒๙ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ ดวงใดดวงหนึ่ง ของกามบุคคล ในกามภูมิ เสพกามอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์เสร็จไปแล้ว ๗ ขณะ แต่อารมณ์นั้นยังไม่ดับลง ยังเหลืออายุอยู่อีกเท่ากับ ๒ ขณะจิต ตทาลัมพนจิตนี้ จึงเกิดขึ้นเสพอนิฏฐารมณ์นั้นต่อจาก ชวนะ [แม้ชวนะจะเป็นโสมนัสก็ตาม แต่ตทาลัมพนะต้องเป็นไปสภาพของอารมณ์ คือ ต้องเป็นตทาลัมพนะที่เป็นอกุศลวิปากจิต] ซึ่งกฎเกณฑ์ของตทาลัมพนจิตนี้จะเกิดได้นั้น มี ๕ ประการ คือ
๑] บุคคลนั้น ต้องเป็นกามบุคคล คือ ผู้ที่เกิดในกามภูมิ ๑๑ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ซึ่งได้แก่ บุคคล ๘ คือ ปุถุชน ๔ อริยบุคคล ๔ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
๒] อารมณ์นั้น ต้องเป็นกามอารมณ์ คือ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ อย่างใดอย่างหนึ่ง
๓] วิถีจิตนั้น ต้องเป็นกามวิถี คือ วิถีการเกิดขึ้นของกามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ ที่ประกอบนั่นเอง
๔] ชวนะที่เกิดในวิถีนั้น ต้องเป็นกามชวนะ ๒๙ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง
๕] อารมณ์ที่ปรากฏนั้น ต้องเป็นอติมหันตารมณ์ คือ อารมณ์ที่มีกำลังมากทางปัญจทวาร หรือเป็นอติวิภูตารมณ์ [หรือวิภูตารมณ์] คือ อารมณ์ที่ปรากฏชัดเจน ทางมโนทวาร อย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อครบองค์ประกอบ ๕ ประการนี้แล้ว ตทาลัมพนจิต ก็เกิดขึ้นได้ ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ตทาลัมพนจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้
๒. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่นำเกิดในภพภูมิใหม่ ซึ่งเป็นผลของเจตนากรรมในอกุศลจิต ๑๑ ดวง [เว้นอุทธัจจสัมปยุตตจิต] เรียกว่า อปายปฏิสนธิ หมายความว่า เป็นปฏิสนธิจิตที่นำให้เกิดในอบายภูมิ ๔ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า ทุคติบุคคล ซึ่งมีได้ใน ๔ ภูมิ คือ นิรยภูมิ [นรก] ปิตติวิสยภูมิ [เปรต] อสุรกายภูมิ [อสุรกาย] และติรัจฉานภูมิ [เดรัจฉาน]
๓. ภวังคกิจ ทำหน้าที่เป็นองค์ของภพ หมายความว่า เป็นจิตที่ทำหน้าที่รักษาภพ คือ รักษาสถานภาพของบุคคลนั้น ๆ ไว้จนตลอดชีวิต กล่าวคือ เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้นแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นไปได้ จนตลอดชีวิต แม้จะมีฤทธิ์มีเดชแปลงร่างเป็นสัตว์หรือบุคคลต่าง ๆ ได้ก็ตาม หรือมีพละกำลังมากมายขนาดไหนก็ตาม เช่น เป็นพญานาค พญาครุฑ พญาช้าง พญาราชสีห์ เป็นต้น ก็ไม่สามารถพัฒนาภูมิธรรมให้บรรลุถึงคุณวิเศษ คือ มรรค ผล ฌาน อภิญญาได้ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นทวิเหตุกบุคคล หรือติเหตุกบุคคลได้ในภพชาตินั้น จึงต้องเป็นอยู่อย่างนั้นจนตลอดชีวิต ดังนี้เป็นตัวอย่าง จึงชื่อว่า เป็นองค์ของภพ คือ ธาตุแท้หรือสถานภาพของบุคคลนั้น
๔. จุติกิจ ทำหน้าที่สิ้นจากภพชาติ คือ ตายจากภพชาติที่เกิดอยู่นั้นไป เมื่อถึงกำหนดกาลที่จะต้องตาย ได้แก่ ตายเพราะสิ้นอายุขัย เรียกว่า อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรมที่นำเกิดในภพภูมินั้น เรียกว่า กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นทั้งอายุและกรรมลงพร้อมกัน เรียกว่า อุภยักขยมรณะ ตายเพราะถูกกรรมอื่นมาตัดรอนชีวิตินทรีย์ให้ขาดลง เรียกว่า อุปัจเฉทกมรณะ ไม่ว่าจะตายด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ก็ตาม อุเบกขาสันตีรณจิตนี้ จะทำหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า จุติกิจ บุคคลนั้นย่อมจะสิ้นสภาพความเป็นทุคติบุคคลลงทันที แล้วเกิดในภูมิอื่นอีกต่อไป
สรุปความว่า อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิตนี้ ทำหน้าที่ ๕ อย่างด้วยกัน คือ สันตีรณกิจ ตทาลัมพนกิจ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ