ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๒๑ ท่านได้แสดงสนิทัสสนรูปและอนิทัสสนรูปไว้ดังต่อไปนี้
สนิทัสสนรูป [รูปที่เห็นได้] หมายถึง รูปที่เป็นไปร่วมกับสภาพที่ถูกเห็น
คำว่า นิทัสสนะ หมายถึง สภาพที่เห็นได้ด้วยจักขุวิญญาณ
สภาพที่เห็นได้ด้วยจักขุวิญญาณแม้มีสภาวะไม่ต่างกัน [กับรูปารมณ์คือสี] ก็กล่าวไว้ให้เหมือนกันรุ.๕๒๒ หากเป็นดังนี้ การรู้ข้อความพิเศษ [คือหน้าที่ของรูปารมณ์] จึงมีได้
อีกนัยหนึ่ง คำว่า นิทัสสนะ หมายถึง หน้าที่ของจักขุวิญญาณ
เมื่อสรุปความแล้ว นิทัสสนรูป ย่อมมีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. สภาพที่เห็นได้ หมายถึง หน้าที่ของรูปารมณ์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “นิทสฺสนสฺส ภาโว นิทสฺสนํ” แปลความว่า ภาวะที่เห็นได้ ชื่อว่า นิทัสสนะ
๒. การเห็น หมายถึง หน้าที่ของจักขุวิญญาณ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “นิทสฺสียเต นิทสฺสนํ” แปลความว่า รูปใดอันจักขุวิญญาณย่อมเห็นได้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า นิทัสสนะ
สนิทัสสนรูป [รูปที่เห็นได้] คือ รูปารมณ์ที่เป็นไปร่วมกับการเห็น
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๒๓ ท่านได้แสดงความหมายของสนิทัสสนรูปและอนิทัสสนรูปไว้ ดังต่อไปนี้
รูปายตนะ [รูปารมณ์] ชื่อว่า สนิทัสสนะ เพราะอรรถว่า เป็นไปกับด้วยนิทัสสนะ กล่าวคือภาพอันจักขุพึงเห็น ก็ความเป็นโคจรแห่งจักขุวิญญาณ ท่านกล่าวว่า นิทัสสนะ และนิทัสสนะนั้น แม้เมื่อไม่เป็นอย่างอื่นจากรูปายตนะ จะกล่าวทำให้เป็นดุจธรรมอื่น เพื่อยังนิทัสสนะนั้นให้แปลกจากธรรมเหล่าอื่นว่า เป็นไปกับด้วยนิทัสสนะ ชื่อว่า สนิทัสสนะ ดังนี้ ก็ควร ก็ความพิเศษอันใด อันกระทำความต่างกันในธรรมทั้งหลายที่เป็นอย่างเดียวกัน ในความเป็นสภาวธรรมเสมอกัน ความพิเศษอันนั้นควรเพื่อจะคลุกเคล้ากระทำให้เป็นดุจธรรมอื่น เพราะความเข้าใจอรรถพิเศษ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงสนิทัสสนรูปและอนิทัสสนรูปไว้เพียงสั้น ๆรุ.๕๒๔ ดังต่อไปนี้
รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ อย่างเดียวเท่านั้นเป็นรูปที่เห็นได้ด้วยตา เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า สนิทัสสนรูป
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๗ รูปนั้น ไม่ใช่เป็นรูปที่เห็นได้ด้วยตา เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า อนิทัสสนรูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๒๕ ได้แสดงสนิทัสสนรูปและอนิทัสสนรูปไว้เพียงสั้น ๆ เช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้
สนิทัสสนรูป หมายถึง รูปที่เห็นได้ด้วยตา มี ๑ รูป ได้แก่ วัณณรูป คือ รูปารมณ์
อนิทัสสนรูป หมายถึง รูปที่เห็นไม่ได้ด้วยตา มี ๒๗ รูปได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๗
[อธิบาย]
วัณณรูป ได้แก่ รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ อย่างเดียวเท่านั้น เป็นรูปที่สามารถเห็นได้ด้วยตา จึงชื่อว่า สนิทัสสนรูป
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๗ รูปนั้น เป็นรูปที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา จึงชื่อว่า อนิทัสสนรูป
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ในอธิการว่าด้วยเรื่องสนิทัสสนรูปและอนิทัสสนรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
๑. สนิทัสสนรูป หมายถึง รูปที่เห็นด้วยตาได้ มี ๑ รูป ได้แก่ วัณณรูป คือ รูปารมณ์ หมายความว่า รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ อย่างเดียวเท่านั้น ที่สามารถรับรู้ได้โดยอาศัยประสาทตา กล่าวคือ จักขุปสาทรูปเป็นช่องทางให้จักขุวิญญาณจิตและจักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้ได้ เพราะวัณณรูปมีสภาพเป็นสีที่คลื่นแสงสะท้อนส่องมากระทบกับจักขุปสาทรูปซึ่งมีสภาพใสที่สามารถรับกระทบกับสีต่าง ๆ ได้นั่นเอง จึงทำให้เกิดกระบวนการรับรู้สี ซึ่งได้แก่รูปารมณ์นั้น โดยการกระทบกันระหว่างจักขุปสาทรูปกับรูปารมณ์ทำให้กระเทือนถึงภวังคจิต [ภ] ภวังคจิตย่อมทำการไหวตัวตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้น [น] และตัดกระแสแห่งภวังค์ขาด [ท] ทำให้จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้น ตามลำดับ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต [ป] ทำการรับรูปารมณ์ที่มาสู่คลองแห่งจักขุทวารนั้นเป็นจิตดวงแรก ต่อจากนั้น จักขุวิญญาณจิต [จักขุ] ย่อมรับรู้สภาพของสีที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วสัมปฏิจฉนจิต [ส] ก็รับรูปารมณ์นั้น ต่อมา สันตีรณจิต [ณ] ทำการไต่สวนรูปารมณ์นั้นโดยความเป็นอนิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่ไม่ดี] อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ [อารมณ์ที่ดีปานกลาง] หรืออติอิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่ดียิ่ง] อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้น โวฏฐัพพนจิต [โว] ย่อมทำการตัดสินสภาพของรูปารมณ์นั้นตามความเป็นจริงที่จิตดวงอื่น ๆ ได้รับมาแล้ว กล่าวคือ รูปารมณ์นั้น เป็นอนิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่ไม่ดี] อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ [อารมณ์ที่ดีปานกลาง] หรือเป็นอติอิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่ดียิ่ง] อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมตัดสินไปตามสภาพแห่งอารมณ์ประเภทนั้น ๆ ต่อจากนั้น ชวนจิต [ช] ย่อมเกิดขึ้นเสพรูปารมณ์นั้นโดยความเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยา อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ หรือด้วยสภาพความเป็นกิริยาของพระอรหันต์ หมายความว่า ถ้าบุคคลที่นอกจากพระอรหันต์ มีโยนิโสมนสิการกำกับในขณะที่เสพรูปารมณ์นั้น ย่อมเสพด้วยชวนะที่เป็นกุศลจิต แต่ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการกำกับในขณะที่เสพรูปารมณ์นั้น ย่อมเสพด้วยชวนะที่เป็นอกุศลจิต ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายท่านละกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลและสภาพธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ท่านย่อมเสพด้วยชวนะที่เป็นกิริยาอย่างเดียว เมื่อชวนจิตเสพครบ ๗ ขณะแล้ว ถ้ารูปารมณ์นั้นยังไม่สิ้นสุด ยังมีอายุเหลืออยู่อีกเท่ากับ ๒ ขณะจิต ลำดับต่อจากนั้น ตทาลัมพนจิต [ต] ซึ่งเป็นวิบากจิต ย่อมเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์นั้นต่ออีก ๒ ขณะ แล้วย่อมเป็นอันสิ้นสุดอายุของรูปารมณ์ ๑ ขณะนั้นพอดี เพราะรูปโดยมาก [เว้นวิญญัติรูป ๒ ลักขณรูป ๔] ย่อมมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต เมื่อรูปนั้นเริ่มปรากฏที่ภวังคจิตดวงแรก คือ อตีตภวังค์ [ตี] และตั้งอยู่ต่อมาเรื่อย ๆ จนถึง ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น เมื่อถึงตทาลัมพนจิตดวงที่ ๒ ในจักขุทวารวิถีนั้น อายุของรูปารมณ์นั้นย่อมสิ้นสุดลงพอดี ต่อจากนั้นไป ก็กลายเป็นสภาพบัญญัติธัมมารมณ์ที่ถูกรับรู้โดยอาศัยมโนทวาร โดยการแปรสภาพของรูปารมณ์นั้นเป็นรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะ เป็นสัตว์ บุคคล หรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ ด้วยอำนาจกระบวนการของจิตที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น รูปารมณ์ อันได้แก่ สีต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบันนิปผันนรูป คือ รูปารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์แท้ ๆ ซึ่งปรากฏในขณะนั้นอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะเป็นอารมณ์ของจักขุทวารวิถีได้ โดยมีสภาพปรากฏเป็นสีเขียว เหลือง แดง ขาว เป็นต้น ชื่อว่า สนิทัสสนรูป
๒. อนิทัสสนรูป หมายถึง รูปที่เห็นด้วยตาไม่ได้ มี ๒๗ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๗ [เว้นวัณณรูปคือรูปารมณ์ ได้แก่ สีต่าง ๆ] หมายความว่า รูปที่เหลืออีก ๒๗ รูป ที่นอกจากวัณณรูปคือรูปารมณ์นั้น ชื่อว่า อนิทัสสนรูป เพราะเป็นรูปที่ไม่สามารถรับรู้ได้โดยอาศัยประสาทตา แต่เป็นรูปที่รับรู้ได้โดยทวารอื่น คือ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เฉพาะทวารของตน ๆ เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า อนิทัสสนรูป
อนึ่ง คำว่า รูป นั้น หมายเอารูปทั้งหมด ๒๘ รูป คือ สภาพที่มีความเปลี่ยนแปลงและแตกดับทำลายไปตามเหตุปัจจัย แต่คำว่า รูป ในที่นี้ มิใช่เป็นสิ่งที่ตาของคนหรือสัตว์ทั้งหลายจะสามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น รูปที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา กล่าวคือ ไม่สามารถรับรู้โดยผ่านประสาทตาได้ แต่รับรู้ได้โดยทวารอื่น คือ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็มีอยู่ ได้แก่ สัททรูปคือสัททารมณ์ ได้แก่ เสียง รับรู้ได้โดยอาศัยโสตปสาทรูปคือประสาทหู คันธรูปคือคันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่น รับรู้ได้โดยอาศัยฆานปสาทรูปคือประสาทจมูก รสรูปคือรสารมณ์ ได้แก่ รส รับรู้ได้โดยอาศัยชิวหาปสาทรูปคือประสาทลิ้น ปถวี เตโช และวาโย ซึ่งเป็นโผฏฐัพพารมณ์ รับรู้ได้โดยอาศัยกายปสาทรูปคือประสาทกาย ส่วนรูปที่นอกจากรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ทั้ง ๕ อย่าง ที่เรียกว่า วิสยรูป ๗ นี้แล้ว ย่อมรับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารคือทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทตา จึงมิใช่ว่าจะเป็นนามธรรมอย่างเดียว แม้รูปธรรมอีก ๒๗ รูป ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยประสาทตาเหมือนกัน