| |
ไตรลักษณ์   |  

ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ ๓ ประการของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เป็นสังขารธรรมทั้งหลาย ซึ่งสังขารธรรมทั้งหลายจะต้องมี ต้องเป็นไปเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น เหตุนี้จึงเรียกว่า สามัญญลักษณะ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลาย ที่จะต้องมีอันเป็นไปอย่างนี้ คือ

๑. อนิจจลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้ง อยู่ได้ตลอดกาล โดยมีความเกิดขึ้น เรียกว่า อุปปาทะ แล้วก็เสื่อมไปในที่สุด เรียกว่า วยะ โดยความแปรปรวน เรียกว่า วิปริณามะ โดยเป็นของชั่วคราว เรียกว่า ตาวกาลิกะ และโดยเป็นปฏิปักษ์กับความเที่ยง เรียกว่า นิจจปฏิกเขปะ

๒. ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป โดยถูกบีบคั้นอยู่เสมอ เรียกว่า อภิณหสัมปฏิปาฬนะ โดยความทนได้ยาก เรียกว่า ทุกขมะ โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ เรียกว่า ทุกขวัตถุ โดยเป็นปฏิปักษ์กับความสุข เรียกว่า สุขปฏิกเขปะ

๓. อนัตตลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน เพราะเหตุที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของว่างเปล่า เรียกว่า สุญญตะ โดยความไม่มีเจ้าของ เรียกว่า อัสสามิกะ โดยไม่ยอมเชื่อฟัง เรียกว่า อนัสวัตตนะ โดยเป็นปฏิปักษ์กับอัตตา เรียกว่า อัตตปฏิกเขปะ

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญตามธรรมดาที่ธรรมชาติแห่งรูปนามอันเป็นสังขารทั้งหลาย จะต้องเป็นไปอย่างนี้อยู่เสมอ ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว อนิจจะ มีลักษณะ ๑๐ ประการ ทุกขะ มีลักษณะ ๒๕ ประการ อนัตตะ มีลักษณะ ๕ ประการ รวมเป็นไตรลักษณ์ ๔๐ ประการ เมื่อปรับเข้ากับขันธ์ ๕ ก็เป็นไตรลักษณ์ ถึง ๒๐๐ ประการ คือ รูปขันธ์ ๔๐ ประการ เวทนาขันธ์ ๔๐ ประการ สัญญาขันธ์ ๔๐ ประการ สังขารขันธ์ ๔๐ ประการ และวิญญาณขันธ์ ๔๐ ประการ รวมเป็น ๒๐๐ ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |