| |
สรุปความเรื่องอุปจยรูปกับสันตติรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๓๒ ได้แสดงสรุปความหมายของอุปจยรูปและสันตติรูปไว้ดังต่อไปนี้

การเกิดขึ้นของรูปในขณะถือปฏิสนธิของเหล่าสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ชื่อว่า อุปจยะ เพราะเป็นสภาพเกิดขึ้นก่อน ต่อจากนั้น การเกิดขึ้นของรูปในช่วงระยะเกิดตา หู จมูก และลิ้น ซึ่งเกิดก่อนอวัยวะทั้งหมด ชื่อว่า อุปจยะ เพราะเป็นสภาพเจริญเติบโตต่อมา ภายหลังจากนั้น การเกิดขึ้นของกระแสรูปที่มีเหตุ ๔ ประการ [กรรม จิต อุตุ อาหาร] ตลอดชีวิต ชื่อว่า สันตติ ดังสาธกในคัมภีร์อรรถกถารุ.๔๓๓ ว่า

“นทีตีเร นิขาตกูปสฺมึ อุทกุคฺคมนกาโล วิย อาจโย นิพฺพตฺติ. ปริปุณฺณกาโล วิย อุปจโย วฑฺฒิ. อชฺโฌตฺถริตฺวา คมนกาโล วิย สนฺตติ ปวตฺติ รุ.๔๓๔ แปลความว่า การอุบัติเกิด เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำขึ้นในบ่อน้ำที่ขุดไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำ ชื่อว่า การเกิดขึ้น [อาจยะ] ก่อน การเจริญเติบโต เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำเต็มบ่อ ชื่อว่า การเกิดขึ้นต่อมา [อุปจยะ] ความเป็นไป เปรียบเหมือนเวลาที่น้ำท่วมล้น ชื่อว่า การดำเนินไป [สันตติ]

บทสรุปของผู้เขียน :

สรุปความว่า ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถาและคัมภีร์วิสุทธิมรรคอรรถกถา ท่านอุปมาอุปจยรูปและสันตติรูปไว้ว่า เปรียบเหมือนบ่อน้ำที่ขุดไว้ใกล้ ๆ แม่น้ำ เมื่อขุดเสร็จใหม่ ๆ จะมีน้ำเริ่มไหลซึมเข้ามาในบ่อเป็นครั้งแรก ต่อมาน้ำนั้นก็จะซึมไหลเข้าไปในบ่อนั้นเรื่อย ๆ จนเต็มบ่อ นี้เปรียบได้กับอุปจยรูปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิขณะจนครบบริบูรณ์ และเมื่อน้ำนั้นเต็มบ่อแล้ว ก็จะไหลล้นออกจากบ่อไปตามพื้นดินอีก นี้เปรียบได้กับสันตติรูป คือ เป็นรูปที่เกิดขึ้นติดต่อกันเรื่อย ๆ มานั่นเอง

ส่วนในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวว่า “การเกิดขึ้นของรูปในช่วงเกิดจักขุทสกกลาปเป็นต้น หลังจากถือปฏิสนธิแล้ว ชื่อว่า อุปจยะ หลังจากนั้นชื่อว่า สันตติ” ข้อความนั้นย่อมสมควรโดยปริยายดังกล่าว

[คัมภีร์วิภาวินีกล่าวถึงการเกิดขึ้นและการเจริญเติบโตต่อมาไว้รวมกันโดยไม่แยกความหมายของ อุป อุปสรรคเป็น ๒ นัยตามคัมภีร์มูลฎีกา มตินั้นก็สมควรอยู่]

อุปจยะ หมายถึง การเกิดขึ้นของรูปในขณะถือปฏิสนธิของสัตว์ผู้เกิดในที่ชื้นแฉะและโอปปาติกสัตว์ เพราะมีสภาพเกิดขึ้นก่อนและเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

สันตติ หมายถึง การเกิดขึ้นของรูปหลังจากนั้น

แม้รูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๓ [จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป] ก็มีสันตติปัจจุบันโดยเฉพาะ ๆ เหมือนกัน กล่าวคือ รูปชนิดหนึ่ง ๆ นั้นมีระยะกาล ๓ ช่วง โดยการเกิดขึ้นก่อน เจริญเติบโต และดำเนินไป

การเกิดขึ้นก่อน หมายถึง สภาพที่รูปเกิดขึ้นก่อนรูปอื่นทั้งหมด ในกระแสแห่งรูปหนึ่ง [รูปวิถี]

การเจริญเติบโต หมายถึง สภาพการเกิดขึ้นของรูปที่เจริญเติบโตต่อจากนั้น

การดำเนินไป หมายถึง สภาพการเกิดขึ้นด้วยการดำรงอยู่และการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เติบโตอีก ในเมื่อการเจริญเติบโตสิ้นสุดลงแล้ว

อนึ่ง การเกิดขึ้นก่อนและการเจริญเติบโต ชื่อว่า อุปจยะ ส่วนการดำเนินไป ชื่อว่า สันตติ

กล่าวโดยสังเขป พึงทราบอุปจยะและสันตติ ดังนี้ เมื่อพบเห็นระยะต่างกัน คือ การเกิดขึ้นก่อน การเจริญเติบโต และการดำเนินไปที่ประจักษ์ในกระแสรูปซึ่งมีใจครองหรือไม่มีใจครองทั้งหมด เช่น ต้นไม้ ต้นหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญเติบโต เมื่อการเจริญเติบโตสิ้นสุดลง ย่อมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เติบโตอีก แล้วก็ดับสูญไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |