| |
สรุปความเรื่องสัมมากัมมันตเจตสิก   |  

สัมมากัมมันตเจตสิก อยู่ในกลุ่ม โสภณราสี คือ หมวดโสภณเจตสิก ๒๕ เป็น วิรตีเจตสิก คือ สภาวธรรมที่ทำการงดเว้นจากกายทุจริต

สัมมากัมมันตเจตสิกนี้ เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุไว้ว่า ประกอบกับจิตดวงใด เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น อาจมีสัมมากัมมันตเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็มี ไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี และเป็นเจตสิกจำพวก นานากทาจิเจตสิก คือ อยู่ในกลุ่มของวิรตีเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราวและเวลาประกอบก็ประกอบไม่พร้อมกัน ได้แก่ ในขณะที่ประกอบมหากุศลจิต ๘ ดวง ส่วนที่ประกอบกับโลกุตตร จิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงนั้น เป็นเจตสิกประเภท นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน และประกอบพร้อมกันเสมอ จึงเรียกว่า นิยตเอกโตโยคีเจตสิก

สัมมากัมมันตเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร ที่เป็นโลกียะ คือ เป็นไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการงดเว้นโดยสัมปัตตวิรัติ คือ ในขณะประสบกับเหตุเฉพาะหน้าก็ดี หรืองดเว้นโดยสมาทานวิรัติ คือ ด้วยการสมาทานตั้งใจไว้ก่อนก็ดี ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ ส่วนสัมมากัมมันตเจตสิกที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้น ย่อมกระทำกิจ คือ การประหาณอนุสัยกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกายทุจริตโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เป็นการตัดกิเลสให้ขาดจากขันธสันดาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

สัมมากัมมันตเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง คือ มหากุศลจิต ๘ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิตนั้นประกอบเป็นบางครั้งบางคราวและประกอบไม่พร้อมกัน เรียกว่า นานากทาจิเจตสิก แต่ในขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ นั้น ย่อมประกอบโดยแน่นอน เรียกว่า นิยตเอกโตโยคีเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบกับจิตโดยแน่นอนและประกอบพร้อมเพรียงกัน

สัมมากัมมันตเจตสิก เกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๓๓ หรือ ๓๕ ดวง คือ

ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิตนั้น ย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๓๓ ดวง ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ และปัญญินทรียเจตสิก ๑

ในขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิก ๓๕ ดวง ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑ และปัญญินทรียเจตสิก ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |