| |
เถรภาษิตเกี่ยวกับเรื่องอาโป   |  

ในมหาหัตถิปโทปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์รุ.๘๕ ได้แสดงอาโปธาตุที่มีภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลายไว้ดังนี้

พระสารีบุตรกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? คือ อาโปธาตุที่เป็นไปภายในก็มี อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุที่เป็นไปภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเอิบอาบ คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ ถึงความเป็นของเอิบอาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า อาโปธาตุเป็นไปภายใน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อาโปธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และอาโปธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั้นเป็นอาโปธาตุแล บัณฑิตพึงเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตัวตนของเรา ครั้นเห็นอาโปธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในอาโปธาตุ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่อาโปธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล อาโปธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมพัดเอาบ้านไปบ้าง พัดเอานิคมไปบ้าง พัดเอาเมืองไปบ้าง พัดเอาชนบทไปบ้าง ย่อมพัดเอาประเทศแห่งชนบทไปบ้าง ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรย่อมลึกลงไปร้อยโยชน์บ้าง สองร้อยโยชน์บ้าง สามร้อยโยชน์บ้าง สี่ร้อยโยชน์บ้าง ห้าร้อยโยชน์บ้าง หกร้อยโยชน์บ้าง เจ็ดร้อยโยชน์บ้าง ย่อมมีได้แล ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่เจ็ดชั่วลำตาลบ้าง หกชั่วลำตาลบ้าง ห้าชั่วลำตาลบ้าง สี่ชั่วลำตาลบ้าง สามชั่วลำตาลบ้าง สองชั่วลำตาลบ้าง ชั่วลำตาลหนึ่งบ้าง ย่อมมีได้แล ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ได้เจ็ดชั่วบุรุษบ้าง หกชั่วบุรุษบ้าง ห้าชั่วบุรุษบ้าง สี่ชั่วบุรุษบ้าง สามชั่วบุรุษบ้าง สองชั่วบุรุษบ้าง ประมาณชั่วบุรุษหนึ่งบ้าง ย่อมมีได้แล ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สมัยที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่กึ่งชั่วบุรุษบ้าง ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณเพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมมีได้แล ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่น้ำแม้ประมาณพอเปียกข้อนิ้วมือจะไม่มีในมหาสมุทร ก็ย่อมมีได้แล ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งอาโปธาตุอันเป็นไปภายนอกซึ่งมากถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถแห่งตัณหา มานะ และทิฏฐิ ในอาโปธาตุอันเป็นภายนอกนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันภิกษุนั้นทำให้มากแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |