| |
วิธีการละอาสวะ ๗ วิธี   |  

การละอาสวะมี ๗ วิธีรุ.๔๘๕ คือ

๑. ทัสสเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการเห็น หมายถึง การพิจารณาให้เห็นความเสื่อมและความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความเสื่อมไปและความสิ้นไปเป็นธรรมดา และเป็นอนัตตา คือ สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาทุกอย่างไม่ได้ ล้วนแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ๆ ทั้งสิ้น

๒. สังวรายะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการสังวร หมายถึง การสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เห็นโดยสักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เป็นต้น โดยไม่ปรุงแต่งให้เลยเถิดไปว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความยินดีและความยินร้าย ในเวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่ม ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกธัมมารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นต้นตอของกิเลสทั้งหลายต่อไป

๓. เสวนายะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการส้องเสพ หมายถึง การส้องเสพสมถภาวนาด้วยการบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จนบรรลุถึงฌานในที่สุด หรือการส้องเสพวิปัสสนาภาวนา ด้วยการพิจารณาสังขารทั้งหลายให้เห็นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และเป็นอสุภะ เพื่อถ่ายถอนวิปัลลาสธรรมให้สิ้นไป และเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปนามขันธ์ ๕ และโลกียธรรมทั้งปวง จนบรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน ในที่สุด

๔. อธิวาสเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยความอดทน หมายถึง การอดทนต่อการเจริญกัมมัฏฐานจนจิตแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อนั้นจิตย่อมเบื่อหน่ายคลายจากอาสวะโดยสิ้นเชิง สามารถอดกลั้นต่อกระแสกิเลสและละเสียได้ซึ่งอาสวะทั้งปวงในที่สุด นี้เป็นอานิสงส์ของความอดทน

๕. ปริวัชชเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการเว้นเสีย หมายถึง เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเบื่อหน่ายดังกล่าวแล้ว ย่อมละเว้นโดยเด็ดขาดด้วยปัญญา เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล ย่อมหลีกเว้นหนทางที่มีพวกโจรซุ่มอยู่เสียให้ห่างไกล ฉันนั้น

๖. วิโนทเนนะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการบรรเทาเสีย หมายถึง เมื่อบุคคลอบรมจิตด้วยวิปัสสนาวิธี พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายเป็นของน่าเบื่อหน่ายดังกล่าวแล้ว จนเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง เห็นว่ารูปนามขันธ์ ๕ อันมีสภาพเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนี้ เป็นดุจสิ่งของที่ยืมเขามา ซึ่งจะต้องส่งคืนเจ้าของเขาไป แล้วถอนความอาลัยเสีย ด้วยการบรรเทาความเมาทั้ง ๓ กล่าวคือ ความเมาในชีวิต เมาในความไม่มีโรค และเมาในความเป็นหนุ่มสาว เสียให้เบาบาง

๗. ภาวนายะ อาสวปหาตัพพา การละอาสวะด้วยการภาวนา หมายถึง การเจริญภาวนาในสมถวิธีและวิปัสสนาวิธี แล้วยกจิตขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารธรรมทั้งปวงให้รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยความเป็นไตรลักษณ์ จนจิตมีสภาพผ่องแผ้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปในที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |