| |
โทสมูลจิต   |  

โทสมูลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นความประทุษร้าย หรือผลักไสอารมณ์ คือ มีการตอบสนองต่ออารมณ์ในทางลบ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ โทสะรุกหน้า อย่างหนึ่ง โทสะถอยหลัง อย่างหนึ่ง ซึ่งมีสภาพดังต่อไปนี้

๑. ความไม่ชอบ หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ เพราะได้กระทบกับอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา หรือ อาฆาตวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งสัตว์และบุคคลผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจ เป็นต้น เมื่อบุคคลนั้น ขาดโยนิโสมนสิการ ทำใจไม่แยบคายแล้ว โทสมูลจิตย่อมเกิดขึ้น ตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ด้วยความผลักไสอารมณ์ให้พ้นไป

๒. ความเกลียด หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความไม่ชอบใจ เมื่อสภาพของอารมณ์นั้น ยังไม่พ้น หรือ ยังไม่หายไป ยังต้องประสบอยู่เช่นนั้นเสมอ ๆ ทำให้เกิดความเก็บกด สะสมความไม่พอใจให้มากขึ้น จนกลายเป็นความเกลียดชัง

๓. ความหงุดหงิด หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความเกลียด เมื่ออารมณ์นั้น ยังไม่หายไป ยังไม่ดับไป ทำให้เกิดความหงุดหงิด คิดหาวิธีการที่จะสลัดให้พ้นไป หรือหาทางหลีกเลี่ยงให้พ้นไป

๔. ความโกรธ หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความหงุดหงิดเบื่อหน่ายต่ออารมณ์นั้น เมื่อยังไม่สามารถที่จะสลัดออกไปหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้ ทำให้เกิดความเก็บกดยิ่งขึ้น กลายเป็นความโกรธ มีปฏิกิริยาทางจิตที่ตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ด้วยการประทุษร้ายที่รุนแรงขึ้น

๕. ความอาฆาต หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความโกรธ ที่เก็บกดสะสมไว้ เมื่อเพิ่มกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีทางขจัดออกไปหรือไม่สามารถบรรเทาให้ลดลงไปได้ และยิ่งเพิ่มเหตุปัจจัยเข้ามาอีก จึงทำให้เกิดความอาฆาตเคียดแค้นขึ้นมา

๖. ความปองร้าย หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความอาฆาต เมื่อเหตุปัจจัยยังไม่หมดไป หรือ ยิ่งเพิ่มพูนทวีขึ้นอีก จึงทำให้เกิดความคิดพยาบาทปองร้ายจองเวรขึ้นมา

๗. ความคิดเบียดเบียน หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความคิดพยาบาทปองร้ายจองเวรนั้น เมื่อมีกำลังมากขึ้น เนื่องจากได้แรงกระตุ้นต่างๆ ทำให้เกิดความคิดหาทางเบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางกาย หรือทางวาจา

๘. ความประทุษร้าย หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความคิดเบียดเบียนนั้น เมื่อได้โอกาสเหมาะ และมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ย่อมทำให้เกิดการลงมือประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ [ด้วยการสาปแช่ง หรือการใช้พลังจิต ใช้เวทมนต์คาถาทำร้าย เป็นต้น]

สภาพของโทสะทั้ง ๘ ประการ ที่กล่าวมานี้ เป็นสภาพของโทสะที่รุกหน้าหรือต่อสู้ ตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยการปะทะ เพื่อจะทำให้อารมณ์ย่อยยับสูญหายไป เรียกว่า โทสะรุกหน้า

๙. ความเสียใจ หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ความไม่สมหวังดังที่ตั้งใจไว้ หรือสืบเนื่องมาจากการได้ประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้น ๆ แล้ว เมื่อสำนึกรู้สึกตัวขึ้นมา ก็เกิดความเสียใจ ในสิ่งที่ทำลงไปนั้น

๑๐. ความกลุ้มใจ หมายถึง สภาพของโทสะที่สัมปยุตต์ด้วยกุกกุจจะ ซึ่งเกิดสืบเนื่องมาจากความเสียใจ เมื่อยังไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาชดเชยความสูญเสียที่เสียไปนั้น หรือไม่สามารถลบล้างสิ่งที่ตนเองประทุษร้ายให้เกิดความสูญเสียไปนั้น ย่อมทำให้เกิดความกลุ้มใจ ท้อแท้เบื่อหน่าย

๑๑. ความรำคาญใจ หมายถึง สภาพของโทสะที่สัมปยุตต์ด้วยกุกกุจจะ ซึ่งเกิดสืบเนื่องมาจากความกลุ้มใจ เมื่อยังไม่สามารถชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับดีขึ้นได้ และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ก็รุมเร้าเพิ่มเข้ามา อันเป็นผลพวงจากความคิดอาฆาต พยาบาท ประทุษร้ายนั้น ๆ ทับถมกันมากขึ้น ยากที่จะสะสางให้หมดสิ้นได้ ทำให้เกิดความรำคาญใจ ยิ่งเมื่อนึกถึงความไม่ดีที่ทำไปแล้ว และนึกถึงความดีที่ยังไม่ได้ทำ ทำให้เกิดความเครียด จนหลายคนต้องหาสิ่งเสพติดมาดับความเครียด ความรำคาญใจนั้น เป็นต้น

๑๒. ความกลัว หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดจากการประสบกับอนิฏฐา รมณ์ ที่ไม่น่าปรารถนาอย่างรุนแรง เช่น พบบุคคลที่มีอำนาจเหนือตน พบศัตรูฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังเหนือกว่า หรือพบภูตผีปีศาจที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่จะทำอันตรายแก่ตนได้ต่างๆ นานา เป็นต้น ทำให้เกิดความผลักไสคิดที่จะสลัดให้พ้นไป หรือ ทำให้หลายคนที่ทนไม่ได้ ถึงกับวิ่งหนีโดยไม่คิดชีวิตก็มี หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสภาพของโทสะที่เกิดสืบเนื่องมาจากความรำคาญใจ เมื่อยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความกลัวในความไม่ดีที่ตนได้กระทำไปแล้ว กลัวว่า ผลแห่งความชั่วนั้นจะหวนกลับมาตอบสนองตนอย่างแสนสาหัส ทำให้เกิดความสะดุ้ง หวาดหวั่น พรั่นพรึง บางคนถึงกับนอนไม่หลับ หรือบางคนเมื่อเก็บกดมากเข้า อาจทำให้เป็นคนสติฟั่นเฟือน เป็นโรคประสาทขึ้นมาก็มี หรือบางคนหาทางออกให้กับตนเองไม่ได้ สุดท้ายต้องจบชีวิตด้วยการประทุษร้ายตนเอง หรือบางคน อาจคิดที่จะทำลายบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อตัดต้นตอของความผิด ไม่ให้สาวมาถึงตนเองได้ เป็นต้น เพราะความคิดสั้น หรือขาดโยนิโสมนสิการนั่นเอง

๑๓. ความเขินอาย หมายถึง สภาพของโทสะที่เกิดสืบเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความด้อยในคุณสมบัติหรือทรัพย์สินทำให้ไม่กล้าเข้าหาบุคคลหรือสังคม ความหยิ่งผยองในตนเองเกินไปไม่กล้าเข้าหาบุคคลผู้มักเพ่งโทษ [เช่น คนที่หยิ่งในความงามของตน ไม่กล้าเข้าหาบุคคลที่ตำหนิเรื่องความงาม มีพระนางรูปนันทาภิกษุณี ที่ไม่กล้าเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เพราะทราบว่า พระพุทธเจ้ามักตรัสตำหนิเรื่องรูปร่างกายอยู่เสมอ เป็นตัวอย่าง] เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสภาพของโทสะที่เกิดสืบเนื่องมาจากความกลัวในความผิดที่ตนทำไปแล้ว จึงเกิดความเขินอาย ไม่กล้าสู้หน้าบุคคลที่ตนกระทำผิดต่อ หรือไม่กล้าสู้หน้าบุคคลที่รู้ในความผิดของตน ไม่กล้าเข้าสังคม เพราะกลัวถูกประจานความผิดที่ตนก่อขึ้น เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพของความกลัว อันเป็นสภาพของโทสะเป็นมูลเป็นประธานทั้งสิ้น

สภาพของโทสะทั้ง ๕ ประการหลัง ที่กล่าวมานี้ เป็นสภาพของโทสะที่ถอยหลังหรือไม่กล้าสู้หน้า ตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยการถอยหนี เพื่อให้พ้นจากสภาพอารมณ์นั้น เรียกว่า โทสะถอยหลัง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |