| |
สรุปความเรื่องวิรตีเจตสิก   |  

วิรตีเจตสิก หมายความว่า เจตสิกที่มีการงดเว้นจากทุจริตเป็นประธาน คือ เมื่อมีวัตถุที่พึงงดเว้น ที่เรียกว่า วิรมิตัพพวัตถุ เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เช่น มีคนมาด่าว่าให้เสียหาย เมื่อคิดจะด่าตอบเขา แต่กลับคิดได้ว่า การด่าตอบคนอื่นนั้น เป็นสิ่งไม่ดี จึงหยุดคำด่าที่จะหลุดออกจากปากนั้นไว้ได้ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา ในขณะที่เห็นยุงกำลังกัดตนอยู่ เงื้อมือจะตบ แต่เกิดความคิดขึ้นในขณะนั้นว่า การตบยุงเป็นสิ่งที่ไม่ควร เป็นบาป แล้วจึงไล่ยุงไปเสีย โดยไม่ตบ นี้จัดเป็น สัมมากัมมันตะ ผู้ทำการค้าขาย ในขณะที่ลูกค้ามาซื้อของ ตอนแรกคิดจะเอาของปลอมขายให้ แต่กลับได้คิดว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วจึงหยุดความคิดที่จะทำทุจริตนั้นเสียแล้ว หยิบเอาของแท้ขายให้เขาไป นี้จัดเป็น สัมมาอาชีวะ

วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถงดเว้นจากทุจริตทุราชีพที่เป็นโลกียะ คือ เป็นไปในชีวิตประจำวัน โดยเป็นการงดเว้นโดยสัมปัตตวิรัติ คือ ในขณะประสบเหตุเฉพาะหน้าก็ดี หรือสมาทานวิรัติ คือ ด้วยการสมาทานตั้งใจไว้ก่อนก็ดี ย่อมเป็นกุศลอย่างเดียว จะเป็นวิบากหรือกิริยาไม่ได้ เพราะวิรตีเจตสิกที่ประกอบกับโลกียจิตนั้น ประกอบได้เฉพาะในมหากุศลจิต ๘ ดวงเท่านั้น ซึ่งทำการงดเว้นจากวิรมิตัพพวัตถุเฉพาะของตน ๆ เป็นเจตสิกจำพวกนานากทาจิ คือ ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราวและประกอบไม่พร้อมกัน เนื่องจากอารมณ์ที่ทำการงดเว้นแตกต่างกัน ส่วนวิรตีเจตสิกที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้น ย่อมเกิดพร้อมกันได้ในจิตดวงเดียวกัน ในฐานะทำกิจ คือ การประหาณอนุสัยกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำทุจริตทุราชีพโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เป็นการตัดกิเลสให้ขาดจากขันธสันดาน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

วิรตีเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง คือ มหากุศลจิต ๘ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ในขณะประกอบกับมหากุศลจิตนั้นประกอบเป็นบางครั้งบางคราวและประกอบไม่พร้อมกัน เรียกว่า นานากทาจิเจตสิก แต่ในขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ นั้น ย่อมประกอบได้ทุกดวงโดยแน่นอนและพร้อมกัน เรียกว่า นิยตเอกโตโยคีเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบกับจิตโดยแน่นอนและพร้อมกัน

วิริตีเจตสิก แต่ละดวงนั้น เกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๓๓ หรือ ๓๕ ดวง คือ

ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิตนั้น ย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๓๓ ดวง ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ และปัญญินทรียเจตสิก ๑

ในขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้น ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิก ๓๕ ดวง ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ วิรตีเจตสิก ๒ [เว้นตัวเอง คือ เจตสิกที่ถูกกล่าวเป็นประธาน] และปัญญินทรียเจตสิก ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |