| |
อธิบายความปณามคาถา

คาถานี้พระอนุรุทธาจารย์ กล่าวเพื่อเป็นการนอบน้อมคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งขออำนาจคุณพระรัตนตรัยให้ช่วยปกป้องคุ้มครอง เพื่อมิให้เกิดอันตรายในเวลาแต่งคัมภีร์ และเป็นการให้คำรับรองที่จะแต่งคัมภีร์ให้สำเร็จตามที่ให้ปฏิญญาไว้

ในคาถาบทนี้ พระอนุรุทธาจารย์ กล่าวคำนอบน้อมคุณพระรัตนตรัยด้วยพระบาลีว่า “สัมมาสัมพุทธะมะตุลัง สะสัทธัมมะคะณุตตะมัง อะภิวาทิยะ” และกล่าวคำปฏิญญารับรองว่าจะแต่งคัมภีร์ให้สำเร็จเสร็จสิ้นจนได้ ด้วยพระบาลีว่า “ภาสิสสัง อะภิธัมมัตถะสังคะหัง”

อภิธรรม หมายถึง หลักธรรมที่มีเนื้อหาที่กว้างขวางครอบคลุมความหมายของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก หรือที่ชาวโลกสมมติเรียกขานเพื่อสื่อความหมายรับรู้ร่วมกันทั้งหมด ฉะนั้น สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมแล้ว ได้แก่ สภาพของจิต เจตสิก รูป นั่นเอง อนึ่ง อภิธรรม หมายถึง หลักธรรมที่มีความหมายอันละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งบุคคลผู้เป็นบัณฑิตสามารถที่จะกำหนดพิจารณาหยั่งรู้ได้โดยลำดับ เป็นสิ่งที่ยากจะให้รู้หมดสิ้นได้ นอกจากพระปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถจะหยั่งรู้ได้หมดสิ้น ฉะนั้น ผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายจึงต้องอาศัยเนื้อหาหรือเรื่องราวในพระสูตรและพระวินัย ตลอดจนประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในวิชาการทางโลกบ้าง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันบ้าง มาเป็นเครื่องกำหนดหยั่งรู้ข้ออรรถข้อธรรมในพระอภิธรรมนี้ด้วย จึงจะสามารถมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาพระอภิธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้งได้ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้ออุปมาการเรียนด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น

๑. อุปมาด้วยนัยน์ตาของคน บุคคลผู้ศึกษาแต่พระอภิธรรม หรือพระวินัย พระสูตร อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เปรียบเหมือนคนมีตาข้างเดียว คนที่ศึกษาเพียง ๒ อย่าง เปรียบเหมือนคนมี ๒ ข้างอย่างธรรมดา ส่วนคนที่ศึกษาทั้ง ๓ อย่างไปด้วยกัน เปรียบเหมือนคน มีตา ๒ ข้างอย่างดี และส่วนบุคคลที่ศึกษาให้รอบรู้ชำนาญทั้งคดีโลกและคดีธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เปรียบเหมือนคนมีตาวิเศษเพิ่มเข้ามาอีก ทำให้สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางและรอบคอบ

๒. อุปมาด้วยการดื่มกาแฟ [สำหรับคอกาแฟ] บุคคลที่เรียนพระอภิธรรมเพียงอย่างเดียว เปรียบเหมือนคนที่รับประทานกาแฟสด ๆ โดยไม่ได้ชงกับน้ำ ย่อมเกิดอาการเมากาแฟขึ้นมาได้ คนที่เรียนพระอภิธรรมกับพระวินัยเพียง ๒ อย่าง เปรียบเหมือนคนที่ดื่มกาแฟที่ชงกับน้ำและคอฟฟี่เมต แต่ไม่ได้ใส่น้ำตาล ย่อมมีอาการผะอืดผะอมขมขื่น คนที่เรียนทั้ง ๓ ปิฎกไปด้วยกัน เปรียบเหมือนคนที่รู้วิธีชงกาแฟบ้าง ย่อมได้รสชาติที่กลมกล่อมพอเหมาะ และส่วนบุคคลที่ศึกษาให้รอบรู้ชำนาญทั้งคดีโลกและคดีธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เปรียบเหมือนคนที่ชำนาญในการชงกาแฟ ย่อมสามารถชงให้บุคคลอื่นรับประทานได้อย่างถูกปากถูกใจ ทำให้เกิดอาการสดชื่น มีความสงบ ความเบาพร้อม ความอ่อนโยน ความคล่องแคล่ว ความควรแก่การงานและความซื่อตรงของจิตใจพร้อมที่จะทำกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบุคคลนั้นสามารถประกอบอาชีพค้าขายกาแฟได้อย่างดี

๓. อุปมาเหมือนคนแกงไก่เป็นต้น บุคคลที่ศึกษาพระอภิธรรมอย่างเดียว เปรียบเหมือนคนที่เอาเนื้อไก่ไปต้มกับน้ำเปล่า ๆ อย่างเดียว เมื่อรับประทานแล้วย่อมเกิดอาการจืดชืด คนที่เรียนพระอภิธรรมกับพระสูตร ๒ อย่าง เปรียบเหมือนคนที่เอาเนื้อไก่ไปต้มกับน้ำและใส่เครื่องปรุงไม่ได้ขนาดพอเหมาะ ย่อมเกิดอาการผะอืดผะอมและเหม็นคาว คนที่เรียนทั้ง ๓ ปิฎกไปด้วยกัน เปรียบเหมือนบุคคลที่แกงไก่เป็น ย่อมได้รสชาติที่กลมกล่อม และส่วนบุคคลที่ศึกษาให้รอบรู้ชำนาญทั้งคดีโลกและคดีธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เปรียบเหมือนคนที่รู้จักวิธีการแกงไก่เป็นอย่างดี ย่อมแกงได้รสชาติที่กลมกล่อมอร่อยถูกใจของทุกคนที่ได้ลิ้มชิมรส

๔. อุปมาเหมือนคนเดินทาง บุคคลที่มีความรู้แต่วิชาการทางโลกอย่างเดียว เปรียบเหมือนคนเดินมองไปแต่ข้างหลัง ไม่ได้มองไปข้างหน้า บุคคลที่มีความรู้เฉพาะวิชาการทางธรรมอย่างเดียว เปรียบเหมือนคนที่มองไปแต่ข้างหน้า แต่ไม่เฉลียวเหลียวมองมาข้างหลัง ส่วนบุคคลที่ศึกษาให้รอบรู้ชำนาญทั้งคดีโลกและคดีธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และกลมกลืนกันนั้น เปรียบเหมือนคนที่มีวิจารณญาณมองไปอย่างรอบด้าน ย่อมจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนและรอบคอบ สามารถป้องกันภัยต่าง ๆ ได้รอบด้าน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |