| |
การปรากฏแก่มโนทวารวิถีของอิตถีภาวรูป   |  




คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

อิตถีภาวรูปนี้มีสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รับรู้ได้ทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถรับรู้สภาวะของอิตถีภาวรูปนี้ทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่งได้เลย กล่าวคือ บุคคลที่เป็นหญิงเท่านั้นที่สามารถรู้สึกถึงสภาพความเป็นหญิงของตนได้ชัดเจน หรือสภาพความเป็นหญิงนั้นย่อมปรากฏเฉพาะแก่บุคคลผู้เป็นหญิงเท่านั้น ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลที่เป็นชายเลย อนึ่ง นอกจากหญิงนั้นจะรู้สึกในสภาพความเป็นหญิงของตนแล้ว บุคคลที่มีอภิญญาจิตบางท่าน เช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมสามารถรู้ถึงความเป็นหญิงของสตรีทั้งหลายได้ ด้วยปรจิตตวิชชานนอภิญญาบ้าง ด้วยทิพยจักขุอภิญญาบ้าง เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกในความเป็นหญิงที่ปรากฏทางมโนทวารนั้น มีลำดับความเป็นไปดังนี้

ลำดับที่ ๑ เรียกว่า อตีตภวังค์ แปลว่า ภวังค์เดิม หมายถึง ภวังค์ที่สืบเนื่องมาจากปฏิสนธิจิต ซึ่งมีอารมณ์เป็นกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับมาจากมรณาสันนชวนะ ในเวลาใกล้ตายจากภพก่อน เมื่อตายแล้ว ปฏิสนธิจิตที่เกิดในภพใหม่ก็รับเอาอารมณ์นั้นสืบมา แล้วดับลง และแปรสภาพเป็นภวังค์ สืบเนื่องความเป็นภพชาติโดยอาศัยอารมณ์นั้นเรื่อยไป จนกว่าจะตายจากภพภูมินั้น ที่เรียกว่า ภวังค์เดิม นี้ หมายเอาเฉพาะขณะที่เริ่มปรารภหรือคิดถึงอารมณ์ใหม่เท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ปรารภหรือคิดถึงอารมณ์ใหม่ ก็เรียกว่า ภวังค์ เฉย ๆ เท่านั้น

ลำดับที่ ๒ เรียกว่า ภวังคจลนะ แปลว่า ภวังค์ไหว หมายถึง ภวังค์ที่ปรากฏขึ้นเมื่อเริ่มปรารภหรือใส่ใจถึงอารมณ์ใหม่ ในที่นี้ คือ ปรารภหรือเริ่มใส่ใจในความรู้สึกถึงความเป็นหญิง ภวังคจลนะนี้ ก็ได้แก่ ภวังค์เดิมของบุคคลนั้นนั่นเอง ที่สืบเนื่องมาจากปฏิสนธจิต ดังกล่าวแล้ว เมื่อปรารภอารมณ์ใหม่ ภวังค์เดิมนั้นย่อมไหวตัว เพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ใหม่ กลายเป็นภวังคจลนะ แต่ยังตัดจากอารมณ์เก่าไม่ได้ แล้วก็ดับไป

ลำดับที่ ๓ เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ แปลว่า ตัดกระแสภวังค์ หมายถึง ภวังค์ที่ละทิ้งอารมณ์เก่าได้สำเร็จ และตนเองก็ดับลงพร้อมกันไปด้วย โดยที่ยังไม่ได้รับรู้อารมณ์ใหม่นั้นเลย ซึ่งภวังคุปัจเฉทะนี้ ก็เป็นอันเดียวกันกับภวังคจลนะนั่นเอง ต่างกันแต่เพียงแปรสภาพจากการไหวตัวมากขึ้น แล้วก็สามารถตัดจากอารมณ์เก่าได้สำเร็จเท่านั้น

ลำดับที่ ๔ เรียกว่า มโนทวาราวัชชนะ แปลว่า การหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ทางมโนทวาร หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ใหม่เป็นดวงแรก เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับลงแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น โดยทำการหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ใหม่นั้นมาสู่มโนทวารได้สำเร็จ จึงเรียกว่า จิตเปิดทวารใจ หรือ จิตเปิดประตูใจ ทำให้มโนทวารวิถีจิตสามารถเกิดขึ้นต่อไปได้ [ถ้าอารมณ์นั้นมีกำลังเพียงพอ] ในกรณีนี้ ก็คือ หน่วงเหนี่ยวอิตถีภาวรูปมาสู่มโนทวารวิถีได้สำเร็จ

ลำดับที่ ๕-๑๑ เรียกว่า ชวนะ แปลว่า การเสพอารมณ์ หมายถึง จิตที่ทำการเสพอารมณ์ใหม่นั้นโดยความเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยาชวนะ ตามสมควรแก่อุปนิสัยและสันดานของบุคคลนั้น ในกรณีนี้ ก็คือ การเสพความรู้สึกแห่งความเป็นหญิงหรือเสพสภาพความเป็นหญิง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ

ลำดับที่ ๑๒-๑๓ เรียกว่า ตทาลัมพนะ แปลว่า การหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่อจากชวนะ หมายถึง จิตที่ทำการรับรู้อารมณ์เป็นลำดับสุดท้ายในวิถีจิตที่เป็นกามวิถี โดยมีเงื่อนไข คือ อารมณ์นั้นต้องเป็นกามอารมณ์ บุคคลที่รับรู้นั้นต้องเป็นกามบุคคลคือผู้เกิดในกามภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ และอารมณ์นั้นต้องเป็นอารมณ์ที่มีกำลังในการปรากฏที่ชัดเจนเต็มที่ ที่เรียกว่า อติมหันตารมณ์ [ทางปัญจทวาร] หรือ อติวิภูตารมณ์ [ทางมโนทวาร] ในกรณีนี้ ก็คือ เสพความรู้สึกในความเป็นหญิงหรือเสพสภาวะแห่งอิตถีภาวรูปของบุคคลอื่น ตามสมควรแก่บุคคลที่เสพนั้น เมื่อครบเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว ตทาลัมพนจิตย่อมเกิดขึ้นเสพอารมณ์ที่เหลือต่อจากชวนะได้ แต่ถ้าไม่ครบเงื่อนไขเหล่านี้ ตทาลัมพนจิตย่อมไม่เกิดขึ้น วิถีจิตย่อมสิ้นสุดที่ชวนจิตดวงสุดท้าย แล้วก็ลงสู่ภวังค์ทันที โดยไม่มีตทาลัมพนจิตเกิดต่อเลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |