| |
สรุปความเรื่องสติ   |  

สติ เป็นเบื้องต้น เป็นมูลเหตุให้เกิดกุศลธรรมต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เพราะเมื่อสติเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้บุคคลระลึกนึกรู้ในสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ได้ และเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสในสิ่งที่ดีงาม มีคุณพระรัตนตรัย กรรมและผลของกรรม เป็นต้น เกิดวิริยะ ความเพียรพยายามในสิ่งที่ดีงาม มีเพียรละอกุศล เพียรเจริญกุศล เป็นต้น และเกิดปัญญาสามารถพิจารณาให้รู้ซึ้งถึงเหตุผลของสิ่งนั้น ๆ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการที่จะประกอบสิ่งที่ดีงามให้เกิดมีขึ้น และให้เพิ่มพูนขึ้นในขันธสันดานของตน

ในเบื้องต้น บุคคลอาจยังมีสติไม่สมบูรณ์ มักทำอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่เสมอ และไม่ค่อยคำนึงถึงกิจการงานที่เป็นประโยชน์ มักทำไปตามสัญชาตญาณ ตามความรู้สึกนึกคิดที่ได้สั่งสมอบรมมา แต่เมื่อมาฝึกฝนอบรมสติให้เกิดมีขึ้นในสันดาน ก็เริ่มมีความรู้สึกนึกคิดในสิ่งที่ดีงาม รู้จักคำนึกถึงโทษและประโยชน์ ข้อดี ข้อด้อยของสิ่งนั้น ๆ เห็นโทษของการขาดสติและเห็นอานิสงส์ของการมีสติ จึงพยายามอบรมสติให้เกิดมีและเพิ่มพูนขึ้นในสันดานของตนเป็นลำดับ เมื่อบุคคลมีสติที่อบรมดีแล้ว ย่อมสามารถทำ พูด คิด หรือประกอบกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง และเกิดผลดี เกิดประโยชน์โสตถิผล แก่บุคคลนั้นมากมาย

เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า สตินี้เป็นพหุปปการธรรม คือ ธรรมที่มีอุปการมาก ทั้งคดีโลกและคดีธรรม เมื่อบุคคลใช้สติประกอบกิจการงานอันเป็นคดีโลก ย่อมสำเร็จประโยชน์โสตถิผลอย่างมหาศาล เป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ช่วยให้ได้รับความสุขในโลกปัจจุบัน หรือเมื่อบุคคลเป็นผู้พากเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องใช้สติเป็นเครื่องระลึกรู้และกำกับดูแล ให้จิตมุ่งไปสู่หนทางแห่งมรรควิถี ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมนั้นๆ จนบรรลุถึงความสำเร็จ ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ และสมควรแก่บารมีธรรมของตน ทำให้ได้เสวยสัมปรายิกัตถประโยชน์ ตลอดจนบรรลุถึงปรมัตถประโยชน์ คือ มรรค ผล นิพพานเป็นปริโยสาน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |