| |
เหตุให้เกิดหิริ ๘ ประการ   |  

บุคคลผู้เป็นกัลยาณชน คือ ผู้มีอัธยาศัยดีงาม เมื่อปรารภถึงเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดความละอายไม่กล้ากระทำบาป หรือทุจริตทั้งปวง คือ

๑. กุละ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงตระกูลของตน หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงตระกูลและวงศาคณาญาติของตนเป็นใหญ่เป็นประธาน ด้วยความดำริว่า ตระกูลของเราเป็นตระกูลที่มีเกียรติ เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป หรือเป็นที่ยำเกรงของบุคคลทั้งหลาย บรรพบุรุษของเราก็ได้ช่วยกันรักษาสืบทอดให้ดำรงเกียรติอันดีงามนั้นตลอดมา ถ้าเรากระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามลงไปแล้ว ตัวเราเองนั่นแหละ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ทำลายวงศ์ตระกูล หรือทำลายมรดกของบรรพบุรุษให้เสื่อมเสียไป อย่ากระนั้นเลย เราไม่ควรกระทำบาปนั้น ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมเกิดความละอายต่อบาปขึ้นมา หรือ ภิกษุ สามเณร หรือ นักบวช อย่างใดอย่างหนึ่ง ปรารภถึงตระกูลโยมอุปัฏฐากของตนแล้ว ทำให้เกิดความละอาย ด้วยคิดว่า โยมอุปัฏฐากของเรานั้น เขาคิดว่า เราเป็นคนดี มีศีลธรรม จึงได้ทำการอุปัฏฐากเรา หรือตระกูลของโยมอุปัฏฐากเรานั้นเป็นตระกูลที่มีเกียรติ เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไป เป็นที่ยำเกรงของบุคคลทั้งหลาย ถ้าเรากระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามลงไป ความเสื่อมเสียย่อมกระทบถึงตระกูลโยมอุปัฏฐากของเรา เช่น อาจถูกบุคคลอื่นตำหนิติเตียนเอาว่า ทำไมไปให้การอุปถัมภ์บุคคลผู้ทุศีล ผู้มีธรรมอันลามก ผู้ลวงโลกเช่นนั้น พวกท่านเป็นคนหูหนวกตาบอดหรืออย่างไร จึงมองไม่เห็นความชั่วร้ายของบุคคลนั้น ดังนี้เป็นต้น แล้วนักบวชนั้น ย่อมไม่กล้ากระทำบาปอกุศลใด ๆ

๒. วยะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงวัยของตน หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงวัยของตนแล้ว เกิดความละอายไม่กล้ากระทำบาป เช่น บุคคลผู้อยู่ในปฐมวัย เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการพิจารณาว่า วัยของเราเป็นวัยกำลังเจริญเติบโตเพื่อเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า หน้าที่ของเราในขณะนี้ คือ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์หรือบุคคลผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย และต้องศึกษาเล่าเรียนสั่งสมวิชาความรู้ไว้ เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และคุณธรรม เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา การกระทำบาปต่าง ๆ นั้น ไม่สมควรแก่เรา ถ้าเราทำบาปแล้ว เราก็จะเป็นคนชั่วเป็นคนไม่ดี ติดนิสัยเลวทราม เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีไม่ได้ ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมเกิดความละอายต่อบาปและไม่กล้าทำบาป หรือบุคคลที่อยู่ในมัชฌิมวัย เป็นผู้มีโยนิโสมนิสการพิจารณาว่า วัยของเราเป็นวัยผู้ใหญ่ ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตในด้านการศึกษาและประสบการณ์การทำงานมาพอสมควรแล้ว ได้รู้ดีรู้ชั่วมาแล้ว และเราอยู่ในวัยที่มีกำลังเรี่ยวแรงดี ต้องพึ่งกำลังกายกำลังสติปัญญาของตนในการทำมาหาเลี้ยงชีพให้เต็มที่ เราไม่ควรทำความชั่ว อันเป็นเหตุให้ถูกตำหนิติเตียน หรือถูกลงโทษทัณฑ์ต่าง ๆ ความเสื่อมเสียก็จะเกิดขึ้นกับเรา และกลายเป็นตราบาปติดตัวติดใจเราไปตลอด ดังนี้แล้ว ย่อมเกิดความละอายต่อบาปไม่กล้ากระทำความชั่วใด ๆ หรือบุคคลที่อยู่ในปัจฉิมวัย เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการพิจารณาว่า เราเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ ผ่านประสบการณ์หนาวร้อนมานานแล้ว กับทั้งเราเองก็อยู่ในฐานะเป็นพ่อคน เป็นแม่คน เป็นปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา มีลูก มีหลาน มีทายาท ถ้าเรากระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามอันเป็นทุจริตกรรมใด ๆ ลงไปแล้ว ก็จะไม่สมควร เป็นความอับอายต่อลูกหลานวงศาคณาญาติของเรา ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมเกิดความละอายต่อบาป ไม่กระทำบาปอกุศลกรรมใด ๆ

๓. พาหุสัจจะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงการศึกษา วิชาความรู้ หรือ คุณวุฒิ ของตน หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงคุณวุฒิหรือศิลปะความรู้ความสามารถของตน เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการพิจารณาว่า เราเป็นคนมีความรู้มีความสามารถมีสติปัญญา ได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาอย่างดีแล้ว จากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม ได้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด เพราะฉะนั้น เราไม่สมควรกระทำบาปอกุศลทุจริตใด ๆ ถ้าเราขืนกระทำบาปลงไปแล้ว ชื่อเสียงเกียรติยศของเราย่อมจะเสื่อมเสีย ไม่เหมาะสมกับที่เราเป็นคนมีการศึกษามีความรู้ เราสมควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ดังนี้เป็นต้น ย่อมเกิดความละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำบาปอกุศลกรรมใด ๆ

๔. ชาติมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงชาติภูมิ อันประเสริฐของตน หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงชาติภูมิถิ่นกำเนิดหรือประเทศชาติของตนแล้ว เกิดโยนิโสมนสิการพิจารณาว่า เราเกิดมาในชาติภูมิมีชาติกำเนิดที่ดี เช่น ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งถือว่า เป็นสัตว์ที่สามารถฝึกฝนให้ประเสริฐได้ และประเทศชาติของเรา ก็เป็นประเทศที่มีเกียรติ มีชื่อเสียงระบือไปในนานาอารยประเทศ ถ้าเรากระทำความผิด กระทำความชั่วเลวทรามลงไปแล้ว ย่อมไม่เป็นการสมควรกับชาติกำเนิดที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และเกิดในประเทศที่มีเกียรติคุณอันดีงามเช่นนี้เลย ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมเกิดความละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำบาปอกุศลกรรมใด ๆ

๕. สัตถุมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงพระศาสดา ครูอาจารย์ของตน หมายความว่า บุคคลบางคนปรารภถึงครูอาจารย์ หรือพระบรมศาสดาที่ตนนับถือแล้ว เกิดโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า เรามีพระบรมศาสดาผู้อบรมสั่งสอนให้ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากบาปธรรมทั้งปวง หรือครูอาจารย์ของเราต่างมุ่งสั่งสอนให้เราเป็นคนดีมีศีลธรรม พระบรมศาสดาของเราเป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หรือครูอาจารย์ของเราเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั้งหลาย ถ้าเรากระทำความผิดความชั่วร้ายลงไป เราย่อมได้ชื่อว่า เป็นศิษย์ที่ผ่าเหล่าผ่ากอของครูอาจารย์หรือเป็นศาสนิกชนที่แหกคอกทำลายคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้เป็นต้นแล้ว เกิดความละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำความผิดความชั่วใด ๆ ลงไป

๖. ทายัชชมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงทายาทที่เป็นใหญ่ของตน หมายความว่า บุคคลบางคนเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ย่าตายาย หรือเป็นญาติผู้ใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้ปรารภถึงลูกหลานผู้เป็นเหล่ากอของตนแล้ว เกิดโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า เราเป็นพ่อแม่ เป็นปู่ยาตายาย เป็นญาติผู้ใหญ่ของลูกหลานที่เกิดมา และลูกหลานของเราก็กำลังเจริญเติบโต มีการศึกษามาดี มีการงานทำอย่างมีเกียรติ ได้รับยกย่องมีหน้าตาในสังคม ถ้าเรากระทำความผิดความชั่วร้ายใด ๆ ลงไป การกระทำเช่นนั้น ไม่เป็นการสมควรแก่ฐานะของเราเลย และคนทั้งหลายก็จะประณามหยามเหยียดเราว่า ทำลายชื่อเสียง ทำลายหน้าตาของลูกหลาน ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมเกิดความละอายต่อบาป ไม่กล้ากระทำความผิดความชั่วใด ๆ ลงไป

๗. สหพรัหมจารีมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงเพื่อนสหพรหมจารี ที่เป็นใหญ่ของตน หมายความว่า บรรพชิตบางรูปปรารภถึงเพื่อนพรหมจารีผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้นแล้ว มีโยนิโสมนสิการพิจารณาว่า เพื่อนพรหมจารีของเรา เป็นผู้มุ่งมั่นในการบำเพ็ญเพียร เพื่อละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อระวังอกุศลบาปธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพื่อรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เรากระทำบาปทุจริตอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป การกระทำเช่นนั้น ไม่สมควรแก่เรา ในฐานะที่มีพรหมจารีผู้มีคุณเช่นนั้น ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมเกิดความละอาย ไม่กล้ากระทำความผิดหรือความชั่วใด ๆ ลงไป

๘. สูรภาวะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงความแกล้วกล้า เข้มแข็งของตน หมายความว่า บุคคลบางคนที่มีกำลังแข็งแรง เป็นผู้กล้าหาญ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผ่านพ้นมาได้ เป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลทั้งหลาย เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วเกิดความละอายใจตนเอง ด้วยความดำริว่า บุคคลผู้มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านปัญหาอุปสรรคมา เคยต่อสู้กับศัตรูทั้งภายในและภายนอกมามากต่อมาก เป็นผู้มีศักดิ์ศรีมีเกียรติ ได้รับยกย่องจากบุคคลทั้งหลาย ถ้าเรากระทำความผิด ความชั่วร้าย ลงไปแล้ว เกียรติยศชื่อเสียงอันดีงามของเรา ก็จะพลันเสื่อมสูญไป กลับกลายเป็นเรื่องอัปยศขึ้นมาแทนที่ ดังนี้เป็นต้นแล้ว ย่อมไม่กล้ากระทำบาปอกุศลธรรมใด ๆ ลงไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |