| |
จำแนกโดยเจตนาทั้ง ๓ กาล และอปราปรเจตนา มีอีก ๔ ประเภท   |  

๓. อุกกัฏฐุกกัฏฐกุศล หมายถึง กุศลที่บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาลและอปราปรเจตนาก็บริบูรณ์ด้วย หมายความว่า อุกกัฏฐุกกัฏฐกุศลจิตนี้ เป็นกุศลจิตที่ไปยึดเอาอุกกัฏฐกุศลที่ได้เคยทำไปแล้วมาเป็นอารมณ์ อปราปรเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งยังความภาคภูมิใจให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์เหมือนเดิม หรือให้เพิ่มพูนยิ่งกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ได้เคยใส่บาตรพระภิกษุที่ตนเคารพนับถือในศีลาจารวัตรของท่านนั้น ในขณะที่ใส่บาตรก็ดี ในขณะที่ทำการอุปัฏฐากก็ดี ก็มีความภาคภูมิใจ มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ มีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม และอยู่ต่อมา เมื่อนึกถึงกุศลที่เคยได้ใส่บาตรหรือได้อุปัฏฐากนั้นขึ้นมาคราวใด ก็ยังมีความภาคภูมิใจอยู่ เนื่องจากได้เห็นศีลาจารวัตรของภิกษุรูปนั้น ยังน่าเลื่อมใสศรัทธาอยู่เหมือนเดิม อย่างนี้เรียกว่า อุกกัฏฐุกกัฏฐกุศล แปลว่า อุกฤษฏ์กุศลไปยึดเอาอุกฤษฏ์กุศลมาเป็นอารมณ์

๔. อุกกัฏโฐมกกุศล หมายถึง กุศลที่บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาลแต่บก พร่องด้วยอปราปรเจตนา หมายความว่า อุกกัฏโฐมกกุศลจิตนี้ เป็นกุศลจิตที่ไปยึดเอาอุกกัฏฐกุศลที่ได้เคยทำไปแล้วมาเป็นอารมณ์ แต่มีเหตุปัจจัยบางประการมาบั่นทอนทำให้กุศลเจตนานั้นอ่อนกำลังลง ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ได้เคยใส่บาตรพระภิกษุที่ตนเคารพนับถือ โดยมองแต่เพียงผิวเผินในภายนอกเข้าใจว่า ท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม ในขณะที่ใส่บาตรก็ดี หรือในขณะที่อุปัฏฐากท่านก็ดี ก็มีความภาคภูมิใจ มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ มีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม แต่ต่อมาภายหลัง ทราบว่า ภิกษุรูปนั้น เป็นผู้ทุศีล มีอาจาระวิบัติ มีความประพฤตินอกรีตนอกรอยแห่งสมณะ เมื่อนึกถึงกุศลที่ตนได้เคยใส่บาตรก็ดี หรือได้เคยอุปัฏฐากก็ดี แก่ภิกษุรูปนั้นในคราวก่อน ก็ทำให้เกิดความหวั่นไหวทางด้านจิตใจ เกิดความเสียดายและเสียใจขึ้นมา มีอกุศลเจตนาเข้ามารบกวนสลับกันไป เมื่อนึกถึงขึ้นมาคราวใด ก็เกิดสภาพจิตใจเช่นนี้อยู่ โดยรำพึงรำพันว่า “ไม่น่าไปทำบุญด้วยเลย” ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า อุกกัฏโฐมกกุศล แปลว่า โอมกกุศลไปยึดเอาอุกกัฏฐกุศลมาเป็นอารมณ์

๕. โอมกุกกัฏฐกุศล หมายถึง กุศลที่บกพร่องด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล หรือกาลใดกาลหนึ่ง แต่บริบูรณ์ด้วยอปราปรเจตนา หมายความว่า โอมกุกกัฏฐกุศลนี้ เป็นกุศลจิตที่ไปยึดเอาโอมกกุศลที่ได้เคยทำไปแล้วมาเป็นอารมณ์ แต่เมื่อนึกถึงแล้วก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เนื่องจากพิจารณาเห็นเหตุปัจจัยอันเหมาะสมบางประการหรือหลายประการมาพลิกผันให้เกิดความภาคภูมิใจ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ได้เคยใส่บาตรสามเณรองค์น้อย ๆ ซึ่งตนเคยมองข้ามไป เห็นว่ายังเด็กอยู่ คงไม่มีความสำคัญอะไรนัก แค่มาอาศัยศาสนาหาเลี้ยงชีพและเพื่อศึกษาเล่าเรียนยกฐานะของตนให้สูงขึ้นเท่านั้นเอง ดังนี้เป็นต้น ซึ่งใจของตนนั้นต้องการจะใส่บาตรพระเถระผู้มีอายุพรรษามาก โดยคิดว่า เป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีศีลาจารวัตรงดงาม แต่สามเณรน้อยนั้น ก็มาหยุดยืนอยู่ต่อหน้า ไม่ยอมเดินเลยไป ซึ่งตนเองจะไม่ใส่บาตรก็กระไรอยู่ จึงต้องจำใจใส่ไป โดยคิดว่า “ถือว่าให้ทานแก่ลูกนกลูกกาไปก็แล้วกัน” ดังนี้เป็นต้น โดยมิได้ปรับปรุงเจตนาให้บริบูรณ์ ทำให้กุศลนั้น จัดเป็นโอมกกุศล แต่ต่อมาภายหลัง สามเณรรูปนั้น เป็นผู้ที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติเป็นอย่างดี เป็นที่ปรากฏแก่สายตาของสังคม หรือกลายมาเป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญต่อพระพุทธศาสนาในสมัยต่อมา เมื่อบุคคลนั้นได้ทราบเช่นนั้น ก็เกิดความภาคภูมิใจนึกถึงตอนที่ตนเองได้ใส่บาตรท่านครั้งหนึ่ง โดยปรารภว่า “เป็นบุญของเราหนอ ที่ได้อุปัฏฐากท่านในครั้งนั้น ถ้าเราไม่ได้ทำเช่นนั้น คงจะเสียใจไปตลอดชีวิตเลย” ดังนี้เป็นต้น แล้วปรับปรุงกุศลเจตนาให้เต็มเปี่ยมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ขึ้น อย่างนี้เรียกว่า โอมกุกกัฏฐกุศล แปลว่า อุกฤษฏ์กุศลไปยึดเอาโอมกกุศลมาเป็นอารมณ์

๖. โอมโกมกกุศล หมายถึง กุศลที่บกพร่องด้วยเจตนา ๓ กาล หรือกาลใดกาลหนึ่ง และอปราปรเจตนา หมายความว่า โอมโกมกกุศลนี้ เป็นกุศลจิตที่ไปยึดเอาโอมกกุศลที่ได้เคยทำไปแล้วมาเป็นอารมณ์ และเมื่อนึกถึงคราวใด ก็ยิ่งทำให้กุศลเจตนาอ่อนกำลังลงไปอีก ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ได้เคยใส่บาตรพระภิกษุหรือสามเณรผู้ทุศีล มีอาจารวิบัติ เป็นผู้ประพฤตินอกรีตนอกรอยแห่งสมณะ ไม่เหมาะสมกับสมณวิสัย ซึ่งตนทราบเรื่องราวเป็นอย่างดี แต่ภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น เดินมาหยุดยืนอยู่ตรงหน้า ไม่ยอมเดินเลยไป ทั้งที่ตนทำท่าไม่อยากใส่บาตร ก็ไม่ยอมเดินเลยไปอีก ตนเองจึงจำใจต้องใส่บาตรภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ด้วยการฝืนใจทำ โดยคิดว่า “ถือว่าเป็นการให้ทานแก่ลูกนกลูกกากินไปก็แล้วกัน” ดังนี้เป็นต้น และต่อมาภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ยังคงประพฤตินอกรีตนอกรอยอยู่ เมื่อบุคคลนั้น ได้พบได้เห็น หรือได้ทราบข่าวเช่นนั้น ก็ยิ่งเกิดความหดหู่ใจ นึกถึงตอนที่ตนได้ใส่บาตรภิกษุหรือสามเณรรูปนั้น ยิ่งเกิดความหวั่นไหว มีอกุศลเจตนาเข้ามาเบียดเบียนให้หมดกำลังลงอยู่เสมอ ๆ โดยคิดว่า “ไม่น่าไปทำบุญด้วยเลย” ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า โอมโกมกกุศล แปลว่า โอมกกุศลไปยึดเอาโอมกกุศลจิตมาเป็นอารมณ์


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |