| |
นิมิต ๓   |  

นิมิต หมายถึง สภาพของอารมณ์ที่สมาธิจิตเข้าไปยึดไว้เป็นอารมณ์เพื่อให้มีความสงบแนบแน่นลึกลงไปตามลำดับ มี ๓ ระดับ คือ

๑. บริกรรมนิมิต หมายถึง สภาพของอารมณ์ที่ต้องทำการบริกรรม คือ การเพ่งดูก็ดี การท่องบ่นทางวาจาก็ดี การภาวนาทางใจก็ดี ด้วยการทำบริกรรมอยู่เสมอๆ ในเบื้องต้น เพื่อดึงจิตให้เข้าไปยึดอยู่ในอารมณ์นั้นไว้อย่างแนบสนิท และให้เกิดความสงบลงตามลำดับ นิมิตชนิดนี้ทำให้ขณิกสมาธิเกิดได้

๒. อุคคหนิมิต หมายถึง สภาพของอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ เป็นครั้งคราวโดยไม่ต้องเพ่งทำบริกรรมเหมือนอย่างบริกรรมนิมิตอีก สามารถที่จะหลีกออกไปทำภาวนาที่อื่นได้ และนิมิตนั้นปรากฏที่ใจเหมือนกับติดอยู่ที่ตา แม้หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น เรียกว่า นิมิตติดตา หรือ นิมิตติดใจ แต่ยังต้องลืมตาเพ่งดูและหลับตานึกภาวนา สลับกันไปเสมอ ๆ มิฉะนั้นแล้ว นิมิตอาจหลุดไปได้ เนื่องจากจิตยังไม่แนบแน่นถึงที่สุด นิมิตชนิดนี้ ทำให้ขณิกสมาธิเกิดได้และเริ่มคืบคลานเข้าสู่สภาพของอุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิมีกำลังแก่กล้า เริ่มจะแปรสภาพไปเป็นอุปจารสมาธิ

๓. ปฏิภาคนิมิต หมายถึง สภาพของอารมณ์ ซึ่งปรากฏติดแน่นอยู่ที่ใจ โดยไม่ต้องลืมตาเพ่งดู และสามารถย่อขยายสภาพนิมิตได้ตามต้องการ จึงเรียกว่า เป็นการเพิกสภาพของนิมิตเก่าออกไปเสีย หมายความว่า ลักษณะ สีสัน สัณฐานของนิมิตนั้น ต่างไปจากของเดิม เพราะมีสภาพผ่องใส ปรากฏเด่นชัด กว่านิมิตเดิม และสามารถขยายให้ใหญ่หรือย่อให้เล็กลงกว่าสภาพเดิมได้ นิมิตชนิดนี้ ทำให้อุปจารสมาธิเกิดได้ และอุปจารสมาธินั้น เมื่อมีกำลังแก่กล้าขึ้น ย่อมจะคืบคลานเข้าสู่สภาพอัปปนาสมาธิ หรือเริ่มแปรเปลี่ยนจากอุปจารสมาธิไปสู่ความเป็นอัปปนาสมาธิ แต่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อล่วงเลยสภาพของปฏิภาคนิมิตไปแล้ว จิตมีความสงบแนบแน่นในอารมณ์เดียวอย่างมั่นคง และองค์ฌานทั้งหลายปรากฏเด่นชัด พร้อมกับทำการข่มกิเลสนิวรณ์ ๕ [เว้นอวิชชานิวรณ์] ให้สงบราบคาบลงเป็นวิกขัมภนปหาน จึงสำเร็จเป็นฌานจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |