| |
อารมณ์ของโลกุตตรจิต   |  

โลกุตตรจิต เป็นจิตที่รับอารมณ์ที่พ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้แก่ นิพพานอารมณ์ นั่นเอง เพราะพระนิพพานนั้น มีสภาพที่พ้นไปจากโลกทั้ง ๓ หรือมีสภาพที่นอกเหนือจากสภาพของโลกทั้ง ๓ นั้น หมายความว่า สิ่งที่โลกทั้ง ๓ นี้มีอยู่ สภาพของพระนิพพานไม่มีอย่างนั้น เนื่องจากพระนิพพานนั้นมีสภาพเป็น ๓ ประการ คือ

๑. สุญญตะ หมายความว่า พระนิพพานนั้นมีสภาพที่ว่างเปล่าจากความ หมายแห่งความเป็นตัวตนหรือวัตถุสิ่งของ นิพพานนั้นไม่เข้าถึงการนับสงเคราะห์เข้าในขันธ์ ๕ เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีความเป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นแต่กาลวิมุตติ [พ้นจากกาลทั้ง ๓] อย่างเดียว นิพพานเป็นสภาพที่มีอยู่ภายนอกจากสัตว์ บุคคล สิ่งของ เป็นธรรมชาติที่มีความละเอียดประณีตโดยส่วนเดียว ทั้งเป็นธรรมชาติอยู่ไกลจากความเป็นกิเลสและขันธ์ ๕ กล่าวคือ ไม่จัดเข้าในขันธ์ ๕ อันเป็นอารมณ์ของกิเลสทั้งหลายที่จะไปเกาะเกี่ยวอยู่แต่ประการใด

๒. อนิมิตตะ หมายความว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ ไม่สามารถกระทบสัมผัสรับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ กล่าวคือ ไม่สามารถเห็นนิพพานทางตาได้ ไม่สามารถได้ยินนิพพานทางหูได้ ไม่สามารถดมกลิ่นนิพพานทางจมูกได้ ไม่สามารถลิ้มรสนิพพานทางลิ้นได้ และไม่สามารถกระทบสัมผัสนิพพานทางกายได้ หรือแม้แต่จะคิดคาดคะเนเอาว่า นิพพานมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ มีขนาดเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะพระนิพพานนั้นเป็นแต่เพียงสภาวะอันสงบประณีตละเอียดอ่อน ซึ่งจะเข้าถึงได้หรือรับรู้ได้โดยทางมโนวิญญาณอันอาศัยมโนทวารอย่างเดียวด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนถึงโคตรภูญาณ และมรรคญาณ ผลญาณเกิดขึ้นเท่านั้น จึงจะสามารถรับรู้สภาวะของพระนิพพานได้

๓. อัปปณิหิตะ หมายความว่า พระนิพพานนั้น เป็นธรรมชาติที่อิสระไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ ทั้งไม่เป็นอารมณ์ของกิเลสตัณหาทั้งปวง เพราะกิเลสตัณหาทั้งหลาย ไม่สามารถเข้าไปยึดหน่วงพระนิพพานนั้นมาเป็นอารมณ์ได้และไม่สามารถประทุษร้ายพระนิพพานนั้นให้เกิดความเศร้าหมองได้ แต่กิเลสตัณหาทั้งปวงนั้น เมื่อบุคคลเข้าถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมถูกกำจัดให้สูญสิ้นไปโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยเหตุนี้ พระนิพพานจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสตัณหาทั้งปวงโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น นิพพานจึงเป็นธรรมชาติที่มีสภาพพ้นจากการปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่าง ๆ และพระนิพพานนั้นไม่ใช่เป็นสภาพที่จะไปปรุงแต่งสิ่งใด ๆ ให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงมีสภาพคงที่ ไม่มีการเกิด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีการดับ ซึ่งต่างจากจิต เจตสิกและรูป ซึ่งมีสภาพความเป็นไตรลักษณ์ครบทั้ง ๓ ส่วนนิพพานนั้นมีสภาพเป็นนิจจังคือเที่ยง สุขังคือเป็นบรมสุข แต่มีสภาพเป็นอนัตตา เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีรูปร่างสัณฐานไม่มีสีสันวรรณะ ที่จะสามารถรับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ หรือแม้แต่จะคิดคาดคะเนเอาว่า มีลักษณะสัณฐานอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

โลกุตตรจิต มี ๒ ประเภท คือ โกลุตตรกุศลจิต หรือ มรรคจิต อย่างหนึ่ง โลกุตตรวิปากจิต หรือ ผลจิต อีกอย่าหนึ่ง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |