| |
พรหมชาลสูตร (๑)   |  

พรหมชาลสูตร

[ทิฏฐิ ๖๒ ประการ]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ในครั้งนั้น สุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมาณพผู้เป็นศิษย์ ก็ได้เดินทางไกลในเส้นทางเดียวกัน ตามหลังมาห่าง ๆ ระหว่างทางนั้น อาจารย์กับศิษย์ได้โต้เถียงกัน คือ อาจารย์กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนศิษย์กล่าวชม

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เข้าไปประทับพักแรมราตรีหนึ่ง ณ พระตำหนักหลวง ในพระราชอุทธยานอัมพลัฏฐิกา สุปปิยปริพาชกกับศิษย์ก็ได้เข้าไปพักแรม ณ ที่ใกล้กันในที่นั้นด้วย อาจารย์กับศิษย์ก็ได้โต้เถียงกันในเรื่องเดิมอีก

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ภิกษุหลายรูปได้มานั่งประชุมกันอยู่ ณ ศาลานั่งเล่น และขณะที่กำลังสนทนากันถึงเรื่องที่สุปปิยปริพาชกกับศิษย์ได้โต้เถียงกันนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับ ณ ที่นั้น และตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า กำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า กำลังสนทนากันถึงเรื่องที่สุปปิยปริพาชกกล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ส่วนพรหมทัตตมาณพผู้เป็นศิษย์กล่าวชม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม ติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรน้อยใจ แค้นเคืองเขา เพราะจะเป็นโทษแก่เธอ และเธอจะรู้ว่าเขาพูดถูก หรือผิดได้ละหรือ

[ภิกษุ] ทราบไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า

[พระพุทธเจ้า] เมื่อผู้อื่นกล่าวติเตียนด้วยคำไม่จริง เธอควรชี้แจงด้วยเหตุผล ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่เขากล่าวนั้นไม่จริง ไม่ถูกต้อง และไม่มีอยู่ในพวกเราเลย

เมื่อมีผู้กล่าวชม เธอทั้งหลายไม่ควรดีใจ ระเริงใจในคำชมนั้น เพราะจะเป็นโทษแก่เธอ ถ้าคำที่เขาชมนั้นจริง เธอควรยืนยันด้วยเหตุผล ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่เขากล่าวนั้นจริง ถูกต้อง และมีอยู่ในพวกเรา

[จุลศีล]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต ซึ่งเป็นเพียงศีลนั้น ได้แก่ คำกล่าวว่า พระสมณโคดม เป็นผู้ที่

๑. ละการฆ่าสัตว์

๒. ละการลักทรัพย์

๓. ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

๔. ละการพูดเท็จ

๕. ละคำส่อเสียด

๖. ละคำหยาบ

๗. ละคำเพ้อเจ้อ

๘. เว้นจากการพรากพืชคาม และภูตคาม

๙. ฉันมื้อเดียว

๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น

๑๑. เว้นขาดจากการประดับตกแต่งร่างกาย

๑๒. เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมาร

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

๒๓. เว้นขาดจากการซื้อขาย

๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่งและของปลอม

๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการตลบตะแลง

๒๖. เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การฉกชิง การปล้น และการกรรโชก

[มัชฌิมศีล]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต ก็คือกล่าวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เว้นขาดจากการกระทำ ซึ่งสมณพราหมณ์บางพวกที่แม้จะฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ก็มิได้เว้น คือ

๑. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม

๒. เว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้

๓. เว้นขาดจากการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่การกุศล

๔. เว้นขาดจากการเล่นพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

๕. เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

๖. เว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย

๗. เว้นขาดจากติรัจฉานกถา [คำพูดที่นอกธรรมนอกวินัย ชื่อว่า เดรัจฉานกถา]

๘. เว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน

๙. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

๑๐. เว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง

[มหาศีล]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นที่ปุถุชนกล่าวชมตถาคต ก็คือกล่าวว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา ซึ่งสมณพราหมณ์บางพวก ที่แม้จะฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ก็มิได้เว้น คือ

๑. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การทาย การทำนาย การทำพิธี และเป็นหมอทางไสยศาสตร์

๒. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การทายลักษณะบุคคล สัตว์ และสิ่งของ

๓. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การดูฤกษ์ยาตราทัพ

๔. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การพยากรณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตร

๕. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การพยากรณ์เกี่ยวกับฝน อาหาร โรคภัย

๖. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การให้ฤกษ์ ดูฤกษ์ ร่ายมนต์ เข้าทรง และการบวงสรวง

๗. เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดย การทำพิธีบนบานและแก้บน ขับผี แปลงเพศกระเทย ทำน้ำมนต์ ปรุงยา

[ทิฏฐิ ๖๒]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกที่ลึกซึ้ง ตถาคตได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง เป็นเหตุให้เขากล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริง ธรรมเหล่านั้น [ทิฏฐิ ๖๒] มีดังต่อไปนี้

ทิฏฐิ ๖๒ ประการ ได้แก่

ก. ปุพพันตกัปปิกาทิฏฐิ คือ ทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอดีต ๑๘ ประการ

ข. อปรันตกัปปิกทิฏฐิ คือ ทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอนาคต ๔๔ ประการ

ก. ปุพพันตกัปปิกาทิฏฐิ ๑๘

ปุพพันตกัปปิกาทิฏฐิ คือ ทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอดีต ๑๘ ประการได้แก่

๑. สัสสตทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

[๑] เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่า อัตตาและโลกบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ

[๒] อันตานันติกทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่า อัตตาและโลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ

[๓] อมราวิกเขปิกทิฏฐิ คือ ทิฏฐิที่มีความเห็นไม่แน่นอนตายตัว ด้วยเหตุ ๔ ประการ

[๔] อธิจจสมุปันนิกทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่าโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอดีต ๑๘ ประการ เพราะเหตุใดเขาจึงมีทิฏฐิเช่นนั้น

[สัสสตทิฏฐิ ๔]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง คงอยู่ยั่งยืน แม้เหล่าสัตว์จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอก็คงมีอยู่ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑. เพราะเขาได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ สามารถระลึกชาติได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติ จนถึงหลายแสนชาติ จึงเห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง

๒. เพราะเขาได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ สามารถระลึกชาติได้ ตั้งแต่หนึ่งสังวัฏฏวิวัฏฏกัป จนถึงสิบสังวัฏฏวิวัฏฏกัป จึงเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง

๓. เพราะเขาได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ สามารถระลึกชาติได้ ตั้งแต่สิบสังวัฏฏวิวัฏฏกัป จนถึงสี่สิบสังวัฏฏวิวัฏฏกัป จึงมีความเห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง

๔. เพราะเขาเป็นนักตรึก เป็นนักคิดค้น มีความเห็นตามเหตุผลที่ตนคิดค้นได้ว่า อัตตาและโลกเที่ยง

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมานี้เท่านั้น

[เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑. เพราะเขาเห็นว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อโลกนี้พินาศอยู่ เหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ [ฌานสมาบัติ] มีปีติเป็นอาหารสถิตอยู่ในภพนั้น เป็นเวลาช้านาน

ต่อมาโลกนี้กลับเจริญ และวิมานของพรหมว่างอยู่ ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่ง ได้จุติจากชั้นอาภัสสรพรหม เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ ไปเกิดในวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ [ฌานสมาบัติ] มีปีติเป็นอาหาร สถิตอยู่ในภพนั้นเป็นเวลาช้านาน เมื่ออยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน ก็คิดปรารถนาให้สัตว์อื่นมาเกิดเช่นตนบ้าง ต่อมาก็มีสัตว์อื่นจุติจากชั้นอาภัสสรพรหม มาเกิดในวิมานของพรหม และอยู่ในภพนั้น เป็นเวลาช้านาน

บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ที่เกิดก่อนผู้อื่น ย่อมคิดเห็นว่า เราเป็นพรหม เป็นใหญ่ เป็นผู้นิรมิต เป็นบิดาของสัตว์ทั้งหลายที่เราได้นิรมิตขึ้นด้วยความตั้งใจของเรา ส่วนผู้เกิดภายหลัง ก็คิดเห็นว่า ท่านผู้เกิดก่อนย่อมเป็นพรหม เป็นผู้นิรมิตพวกเราทั้งหลาย เพราะเราได้เห็นท่านเกิดขึ้นในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง

ภิกษุทั้งหลาย ได้มีสัตว์จุติจากวิมานของพรหมมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ สามารถระลึกชาติก่อนได้ เลยจากนั้นขึ้นไปอีกระลึกไม่ได้ จึงได้กล่าวว่า พระพรหมผู้ที่นิรมิตพวกเรานั้นเป็นผู้เที่ยงยั่งยืน ไม่แปรผัน ส่วนพวกเราที่พระพรหมนิรมิตขึ้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้

๒. เพราะเขาเห็นว่า มีพวกเทวดาชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะ พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์เกินไป จนขาดสติ จึงจุติจากชั้นนั้น มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ สามารถระลึกชาติก่อนได้ เลยจากนั้นขึ้นไปอีกระลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวว่า พวกเทวดาผู้มิใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ย่อมไม่หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์เกินไป จนขาดสติ จึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน ไม่แปรผัน ส่วนพวกเรานั้นเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้

๓. เพราะเขาเห็นว่า มีพวกเทวดาชื่อว่ามโนปโทสิกะ เป็นพวกที่มักเพ่งโทษกันและกันเกินควร ต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงลำบากกาย ลำบากใจ ได้จุติจากชั้นนั้น มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ สามารถระลึกชาติก่อนได้ เลยจากนั้นขึ้นไปอีกระลึกไม่ได้ เขาจึงได้กล่าวว่า พวกเทวดาผู้มิใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่เพ่งโทษกันและกันเกินควร จึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน ไม่แปรผัน ส่วนพวกเรานั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้

๔. เพราะเขาเป็นนักตรึก เป็นนักคิดค้น มีความเห็นตามเหตุผลที่ตนคิดค้นได้ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เรียกว่า อัตตา นี้ เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ส่วนจิตหรือใจ หรือวิญญาณ ที่เรียกว่า อัตตานี้ เป็นของเที่ยง ยั่งยืน ไม่แปรผัน

สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๔ ประการนี้

[อันตานันติกทิฏฐิ ๔]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ บัญญัติว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑. เพราะเขาได้ปฏิบัติธรรม จนบรรลุเจโตสมาธิ จึงรู้ว่า โลกนี้มีที่สุดกลมโดยรอบ

๒. เพราะเขาได้ปฏิบัติธรรม จนบรรลุเจโตสมาธิ จึงรู้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้

๓. เพราะเขาได้ปฏิบัติธรรม จนบรรลุเจโตสมาธิ รู้ว่า โลกนี้ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางไม่มีที่สุด จึงเห็นว่า โลกนี้ทั้งมีที่สุด และไม่มีที่สุด

๔. เพราะเขาเป็นนักตรึกเป็นนักคิดค้น มีความเห็นตามเหตุผลที่ตนคิดค้นได้ว่า โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ บัญญัติว่า โลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้ ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๔ ประการ ดังกล่าวมานี้เท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |